Vlog คืออะไร อ่านออกเสียงว่าอย่างไรกันแน่

วิดีโอประเภทที่เรียกว่า “Vlog” กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในโลกออนไลน์ปัจจุบัน จนทำให้เกิดอาชีพ “Vlogger” ขึ้นมากมายบนยูทูบและเว็บไซต์ต่างๆ แต่คำว่า “Vlog” แท้จริงแล้ว คืออะไร และออกเสียงว่าอะไรกันแน่

อ่านออกเสียงว่าอย่างไร

แม้หลายคนอาจเคยได้ยินคนอ่านออกเสียงคำๆ นี้โดยแบ่งเป็นสองพยางค์ว่า วีล็อก (V-log) แต่ความจริงแล้ว การออกเสียงที่ถูกต้องควรจะอ่านว่า “วล๊อก” ในแบบเดียวกับคำว่า “บล๊อก” นั่นเอง

ทั้งนี้ ต้นกำเนิดของคำๆ นี้ก็มาจากคำว่า Video + Blog จากจุดเริ่มต้นที่มันเคยมีชื่อแสนธรรมดาว่า Video Blog เท่านั้นเอง

ประวัติของ Video Blog

วิดีโอประเภทเรื่อยเปื่อยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุคนี้ จริงๆ แล้วหากย้อนไปในยุค 1980s มีศิลปินอเมริกันหลายคน รวมถึง เนลสัน ซัลลิแวน ที่ทำงานศิลปะจากการถ่ายวิดีโอชีวิตประจำวันทั่วไป และนำมาเผยแพร่เป็นงานศิลปะ

แต่สำหรับความนิยมของวล๊อกในปัจจุบันนั้น หลายคนยกเครดิตให้กับ อดัม คอนทราส หนุ่มชาวอเมริกันที่โพสต์วิดีโออันยืดยาวพร้อมกับบล๊อกที่สาธยายเกี่ยวกับ การเดินทางไป ลอส แองเจลิส เพื่อตามฝันในอุตสาหกรรมบันเทิง ให้เพื่อนๆ และครอบครัวของเขาได้รู้ ซึ่งวิดีโอดังกล่าวกลับได้รับความนิยมอย่างมาก และว่ากันว่ามันยังถือเป็นหนึ่งในวล๊อกที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์อีกด้วย

หลังจากนั้นไม่นาน ด้วยเทคโนโลยี ที่ทำให้การถ่ายวิดีโอเป็นเรื่องง่ายขึ้น เริ่มมีผู้ที่ถ่ายวิดีโอแนวเดียวกันนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในช่วงปี 2004 คำว่า Video Blog ได้กลายเป็นศัพท์ที่พูดกันแพร่หลายในหมู่ผู้ชื่นชอบการถ่ายวิดีโอในโลกออนไลน์

Vlog คืออะไร ?

หลายคนอาจสังสัยว่าวิดีโฮรูปแบบ “วล๊อก” นั้นแตกต่างจากวิดีโอปกติอย่างไร หากจะอธิบายง่ายๆ วิดีโอที่เรียกว่า “วล๊อก” ก็เปรียบได้กับการเขียนบล๊อกหรือไดอารี่ แต่แทนที่จะสื่อสารผ่านตัวหนังสือ วล๊อกนั้นใช้สื่อวิดีโอเป็นตัวกลาง

ถ้าเราลองนึกดู เวลาเราอ่าน Blog ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบล๊อกในยุคเฟื่องฟูที่คนทั่วไปจำนวนมากเล่าเรื่องของตัวเองอย่างหลากหลาย เช่น ประสบการณ์ที่ได้เจอมาในแต่ละวัน อาหารที่ชอบ หรือเรื่องสัพเพเหระ จะสังเกตได้ว่าบล๊อกเหล่านั้นไม่ได้มีรูปแบบหรือจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน พูดง่ายๆ คือ มันมักจะเป็นเนื้อหาที่ไม่จำเป็นต้องมี “ประเด็น” ใดๆ

ดังนั้นสิ่งที่ทำให้ วีดีโอวล๊อก แตกต่างจากวิดีโอปกติ คือ เนื้อหาที่มักจะให้ความรู้สึก “ไปเรื่อยๆ” ไม่หวือหวา ไม่มีการตัดต่อที่พยายามจะเล่าเรื่องหรือสื่อสารอะไรอย่างชัดเจน แต่เป็นเหมือนการแบ่งปันความคิด ความรู้สึก ของ Vlogger สู่ผู้ชมเสียมากกว่า

เช่นเดียวกัน ถ้าใครสงสัยว่า บล๊อก กับ วล๊อก ต่างกันอย่างไร คำตอบง่ายๆ ก็คือสื่อที่ใช้ในการสื่อสารนั่นเอง

Vlogger ยอดนิยมในไทย

Vlogger ไทยที่เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้างส่วนใหญ่ มักเริ่มต้นจากการเป็น YouTuber คือผู้ผลิตวิดีโอที่มีเนื้อหาหรือประเด็นอย่างชัดเจน หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีเชื่อเสียงอยู่แล้วก่อนจะผันตัวมาทำช่องของตัวเอง ซึ่งตัวอย่างของช่องที่เรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักจากวิดีโอสไตล์ “วล๊อก” น่าจะได้แก่ ฟ้า สาลิกา (Fah Sarika) เก้า สุภัสสรา (KaoSupatsara) และ เมย์อาร์ (MayyR) เป็นต้น


 

เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง

ปุ่มเพิ่มเพื่อน