วิธีตรวจสอบข่าวปลอม เครื่องมือที่นักข่าวควรรู้

ข่าวปลอม หรือ เฟคนิวส์ กลายเป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง ในยุคที่ใครก็สามารถผลิตและส่งต่อเนื้อหาได้ภายในไม่กี่อึดใจ ซึ่งรวมถึงเนื้อหาที่มีจุดประสงค์แอบแฝงในรูปแบบของข่าว

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าข่าวที่เราอ่านอยู่นั้นเป็นเรื่องจริงและไม่ได้ถูกปรุงแต่งเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าหรือการเมือง ในยุคที่ข่าวปลอมมีความซับซ้อนและแนบเนียนขึ้นเรื่อยๆ และแม้แต่หน่วยงานของรัฐบาลเองก็ยังเคยนำเสนอข้อมูลที่เป็นเท็จ


วิธีตรวจสอบข่าวปลอม : สงสัยไว้ก่อน

กฎง่ายๆ คือ การตั้งคำถามกับทุกอย่างที่เราเห็นไว้ก่อนว่า “จริงหรือ?” และไม่เชื่อข่าวใดง่ายๆ จนกว่าจะสามารถยืนยันได้ว่าเป็นจริง

นอกจากนี้ สำนักข่าวหรือทีผู้เขียน “มีตัวตน” อย่างเปิดเผย สามารถติดต่อและแสดงความรับผิดชอบต่อเนื้อหานั้นๆ ได้ ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีกว่าแหล่งข้อมูลที่ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเป็นใคร

นอกจากการติดต่อไปยังต้นตอของแหล่งข่าวที่ถูกอ้างถึง ซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือองค์กรต่างๆ แล้ว ยังมีเครื่องมืออีกหลายชิ้นที่นักข่าวและบุคคลทั่วไปสามารถใช้ตรวจสอบเนื้อหาที่พบในอินเทอร์เน็ตได้ง่ายๆ ดังนี้


เสิร์ชรูปภาพย้อนหลัง

หนึ่งในเทคนิคง่าย ๆ ที่สามารถตรวจสอบข่าวปลอม คือการนำรูปประกอบข่าวไปค้นหาย้อนหลัง

สำนักข่าว AFP แนะนำว่า หากคุณใช้เบราเซอร์ Google Chrome ก็สามารถคลิกขวาที่รูปแล้วกด “search Google for image” หรือ “ค้นหารูปภาพจาก Google” ได้ทันที ซึ่งกูเกิลจะแสดงเนื้อหาที่เคยใช้ภาพเดียวกันนี้ในอดีต ทำให้คุณสามารถตรวจสอบได้ว่า ข่าวดังกล่าวนำรูปจากเหตุการณ์อื่นมาบิดเบือนหรือไม่

ตัวอย่างที่พบได้บ่อย ได้แก่ การนำภาพกลุ่มผู้ประท้วงในอดีตมาอ้างว่าเป็นการประท้วงครั้งใหม่ หรือ การนำภาพผู้ป่วยในอดีตมาอ้างว่าเป็นผู้ป่วยโรคระบาดใหม่ เป็นต้น

นอกจากการค้นหารูปด้วย Google Image Search แล้ว เรายังสามารถตรวจสอบรูปต่างๆ ผ่าน search engine อื่นๆ เช่น Bing, Yandex, TinEye และ Baidu

บางครั้งการค้นด้วยภาพอาจไม่ได้ผลลัพธ์ที่ครบถ้วน เนื่องจากผู้เผยแพร่ข่าวปลอมอาจนำรูปเก่ามาตกแต่งด้วยโปรแกรมต่างๆ ดังนั้น เราควรสังเกตสิ่งแวดล้อมในภาพด้วย เช่น ป้ายบอกทาง ป้ายร้านค้า หรือบุคคลอื่นในภาพ ซึ่งบางครั้งจะสามารถบอกเราได้ว่ารูปนั้นๆ มาจากเวลาและสถานที่ตามที่กล่าวอ้างหรือไม่


ตรวจสอบวิดีโอข่าวปลอม

นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจสอบวิดีโอประกอบข่าว ด้วยการใช้ส่วนขยายของ Google Chrome ที่ชื่อว่า INVID/We Verify Chrome ซึ่งสำนักข่าว AFP มีส่วนร่วมพัฒนาขึ้นมา โดยส่วนขยายดังกล่าวจะนำภาพจากแต่ละเฟรมของวิดีโอมาตรวจสอบกับภาพเก่าๆ บนอินเทอร์เน็ตอีกครั้ง


เช็คแหล่งที่มาของเนื้อข่าว

บ่อยครั้งผู้สร้างข่าวปลอมจะนำข้อมูลหรือคำพูดในอดีตมาใช้ใหม่เพื่อทำให้เข้าใจผิดว่ากำลัฝพูดถึงเหตุการณ์ในปัจจุบัน เังนั้นวิธีตรวจสอบอย่างหนึ่งคือการเช็คว่าคำพูดของบุคคลในข่าวเป็นของเก่าที่ถูกนำมาใช้ใหม่หรือไม่

เนื้อหาข่าวต่างๆ สามารถ copy เนื้อหาและทำการเสิร์ชโดยใส่ข้อความไว้ข้างในเครื่องหมาย “” เพื่อหาคำที่ตรงกันแบบคำต่อคำ ซึ่งนอกจากเช็คว่าเป็นข้อความเก่าหีือไม่แล้ว มันอาจทำให้เราพบต้นตอของคำพูดดังกล่าวว่ามาจากเว็บไซต์ล้อเลียน หรือเว็บไซต์ที่ไม่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ในส่วนของการอ้างอิงตัวเลขต่างๆ เราควรมองหาและตรวจสอบแหล่งที่มาว่าตัวเลขดังกล่าวมีการเผยแพร่จากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ รวมถึงต้องระวังการแปลภาษาที่คลาดเคลื่อนเมื่อเป็นข้อมูลจากหน่วยงานต่างประเทศด้วย


เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง

ปุ่มเพิ่มเพื่อน