พาวเวอร์แบงค์ ยี่ห้อไหนดี แบตสำรองรุ่นไหนดีที่สุด

จากการค้นคว้าข้อมูลและเปรียบเทียบ power bank (พาวเวอร์แบงค์) หลายรุ่นที่มีวางขายในไทย ทีมงาน roonnhaidee เชื่อว่า Anker PowerCore Fusion 5000 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่มองหาแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้สำหรับชาร์จโทรศัพท์ระหว่างวันหรือขณะเดินทางเป็นหลัก

Anker Fusion มีจุดเด่นสำคัญ คือ การใช้งานแบบ 2 in 1 ที่สามารถใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองและอะแดปเตอร์ชาร์จไฟได้ในตัวเดียว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องพกอุปกรณ์หลายชิ้นแล้ว มันยังผลิตด้วยวัสดุคุณภาพสูง และมีความเร็วในการชาร์จที่ดีกว่าพาวเวอร์แบงค์ในราคาและความจุใกล้เคียงกันส่วนใหญ่

Tips: เพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าปลอม หากคุณจะซื้อ Power Bank ของ Anker เราแนะนำว่าควรซื้อผ่าน Anker Thailand ซึ่งเป็นร้านของบริษัท แม็กเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ Anker ให้การรับรอง

สำหรับคนที่ต้องการใช้งาน power bank สำหรับอุปกรณ์หลายชิ้นอยู่เป็นประจำ เราคิดว่าคุณควรเลือกอัพเกรดเป็นรุ่นที่มีความจุและความเร็วในการชาร์จที่สูงขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า Anker PowerCore 20100 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคนที่ใช้งานอย่างจริงจัง นอกจากจะเป็นรุ่นที่เว็บไซต์ในต่างประเทศหลายแห่งแนะนำแล้ว PowerCore 20100 ยังทำได้ดีกว่าตัวเลือกอื่น ๆ ในไทยที่มีขนาดความจุและราคาไล่เลี่ยกันในหลายด้าน


สารบัญ

  • ก่อนซื้อ power bank ต้องดูอะไรบ้าง
    • โวลท์ แอมป์ วัตต์ ต่างกันอย่างไร
    • ความเร็วในการชาร์จไฟ
    • QuickCharge คืออะไร และสำคัญแค่ไหน
  • รุ่นที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ Anker Fusion
    • ทำไมเราถึงแนะนำ พาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้
  • รุ่นอัพเกรดสำหรับการใช้งานจริงจัง
    • Anker PowerCore 20100 เหมาะสำหรับใคร
  • ตัวเลือกอื่น ๆ

ก่อนซื้อ power bank ต้องดูอะไรบ้าง

Power bank ยี่ห้อ Anker รุ่น PowerCore 20100

หากคุณประสบปัญหาอุปกรณ์ที่ใช้อยู่นั่นมีแบตเตอรี่หมดระหว่างวันอยู่บ่อย ๆ ทั้งในการใช้งานประจำวัน วันที่ต้องใช้งานมากกว่าปกติ หรือแม้แต่ลืมชาร์จโทรศัพท์ก่อนออกจากบ้าน การมีแบตเตอรี่สำรองพกพาติดตัวไว้จะช่วยให้คุณสามารถใช้โทรศัพท์ได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการทำงานของหลาย ๆ คน

ถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาปลั๊กไฟเพื่อชาร์จโทรศัพท์ แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณจะพบว่าคุณไม่สามารถนั่งอยู่กับที่เพื่อรอให้อุปกรณ์ค่อย ๆ ชาร์จไฟได้เป็นเวลานาน นั่นทำให้พาวเวอร์แบงค์มีประโยชน์กว่าการพกอะแดปเตอร์ในหลาย ๆ สถานการณ์

“ถ้าความเร็วในการชาร์จเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ คุณควรจะมองหา Power Bank ที่มีค่า amp (maximum output) ที่สูง”

ก่อนเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ คุณควรจะตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าการใช้งานของคุณเป็นแบบไหน เพราะความต้องการในการใช้งานสำหรับคนที่แค่ต้องการชาร์จโทรศัพท์ระหว่างวันเป็นครั้งคราว กับคนที่ต้องการชาร์จไอแพดเพื่อทำงานนอกสถานที่เป็นเวลานาน ๆ เป็นประจำ นั้นแตกต่างกัน

คุณควรรู้ก่อนว่าอุปกรณ์อะไรบ้างที่คุณต้องการชาร์จเป็นประจำ (เช่น สมาร์ทโฟน iPad หรือ หูฟัง) คุณควรพิจาณาด้วยว่าคุณจำเป็นต้องชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยพาวเวอร์แบงค์บ่อยแค่ไหน (กี่ครั้งต่อวันหรือสัปดาห์) รวมถึงขนาดและน้ำหนักที่คุณรู้สึกว่ารับได้ในการพกพาติดตัวไปด้วย

ในการเลือกพิจารณาพาวเวอร์แบงค์ ทีมงานของเราให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้งานจริงเป็นหลัก ซึ่งนั่นนับรวมถึง ความเร็วในการชาร์จ ความจุของแบตเตอรี่ จำนวนพอร์ทการเชื่อมต่อ ขนาด น้ำหนัก การออกแบบ และฟังก์ชั่นเสริมอื่น ๆ


โวลท์ แอมป์ วัตต์ ของพาวเวอร์แบงค์

ในการเลือกซื้อ power bank และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ต่าง ๆ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหน่วยวัดในระบบไฟฟ้า จะสามาถช่วยให้คุณเข้าใจคุณสมบัติของแต่ละรุ่นได้ง่ายขึ้น

เว็บไซต์ KARE THAILAND ได้อธิบาย ทั้ง 3 ค่านี้ไว้อย่างง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบมันกับการเปิดน้ำประปาตามบ้าน

  • V หรือ Volt (โวลท์) คือ แรงดันไฟฟ้า = เหมือนเราเปิดก๊อกหรือเครื่องปั๊มน้ำ เปิดก๊อกจนสุดหรือเปิดเครื่องปั๊ม น้ำก็พุ่งไปไกล
  • A หรือ Amp (แอมป์) คือ กระแสไฟฟ้า = เหมือนกับขนาดของท่อน้ำ หรือสายยาง ท่อใหญ่ส่งน้ำได้มากกว่า น้ำไหลได้สะดวกกว่า
  • W หรือ Watt (วัตต์) คือ หน่วยวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า = เปิดน้ำแล้วเอากะละมังมารองน้ำไว้ น้ำในกะละมัง (สามารถคำนวณได้ด้วยการนำ V คูณกับ A)

ความเร็วในการชาร์จ

สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลือก power bank คือความเร็วในการชาร์จ เพราะในการใช้งานจริงนั้น บ่อยครั้งเรามักจะต้องการชาร์จไฟให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด

ถ้าหากถ้าความเร็วในการชาร์จเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ สิ่งที่คุณควรพิจารณาคือค่า A สูงสุดในที่ระบุไว้ใน maximum output ของแต่ละพอร์ท โดยเมื่อเปรียบเทียบ power bank ส่วนใหญ่ ซึ่งมีค่าแรงดันไฟฟ้ามาตรฐาน 5V ความเร็วในการชาร์จไฟของพาวเวอร์แบงค์นั้นขึ้นอยู่กับค่า maximum output ที่มีตั้งแต่ 1 – 4.8A พาวเวอร์แบงค์ที่มีค่าแอมป์ยิ่งสูงยิ่งทำให้อุปกรณ์ดึงเอาไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปใช้ได้มากขึ้น

ในสมัยก่อน อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ส่วนใหญ่ ชาร์จไฟด้วยกระแสไฟ 0.5 A จากพอร์ท USB ก่อนจะรองรับกระแสไฟได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ปัจจุบันอุปกรณ์หลายชนิด เช่น iPad ที่สามารถดึงกระแสไฟได้ถึง 3A ซึ่งหากพาวเวอร์แบงค์ของคุณสามารถส่งกระแสไฟได้สูงสุดที่ 2.1A นั่นก็จะทำให้คุณไม่สามารถชาร์จด้วยความเร็วสูงสุดที่ 2.1A เท่านั้น และนั้นเป็นสาเหตุที่คุณต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการชาร์จ iPad ด้วยที่ชาร์จมาตรฐานของไอโฟนซึ่งมี max output เพียง 1A เท่านั้น



QuickCharge คืออะไร และสำคัญแค่ไหน?

QuickCharge เป็นเทคโนโลยีซึ่งถูกคิดค้นและผลักดันโดย Qualcomm บริษัทผู้ผลิตชิปสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถช่วยให้โทรศัพท์ชาร์จแบตเตอรี่ได้ปริมาณไฟที่มากขึ้นในเวลาที่น้อยลงได้ โดยอาศัยการทำงานร่วมกับซีพียูของโทรศัพท์ในการปรับปริมาณการรับกระแสไฟ

ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยี Quick Charge 2.0 (หรือที่เรียกว่า Fast Charge ในมือถือ Samsung S7 S8 S9 และ USB PD ของไอโฟน 8 X, XR, XS, XS Max) สามารถปรับการรับกระแสไฟได้ในระหว่างช่วง 5 – 12 V ทำให้สามารถชาร์จไฟจาก 0-50% ได้ในเวลา 30 นาที

ขณะที่ QuickCharge 3.0 ซึ่งมาพร้อมกับมือถือบางรุ่นในปัจจุบัน อย่าง LG G6, G7, Xiaomi Mi 6 จะสามารถชาร์จไฟจาก 0-80% ได้ภายใน 30 นาที (สามารถดูรายชื่อสมาร์ทโฟนที่รองรับ QuickCharge ชนิดต่าง ๆ ได้ที่นี่)

เพจเฟซบุ๊กของ Aukey Thailand ได้อธิบายการใช้งาน QuickCharge เอาไว้ว่าจะสามารถใช้งานได้ ด้วยองค์ประกอบสองสองส่วน ได้แก่

  1. Smartphone ที่ใช้ CPU Qualcomm ที่รองรับ Quick Charge 3.0 (CPU Snapdragon 820, 620, 618, 617 และ 430) หรือ Quick Charge 2.0 (CPU Snapdragon 800 ขึ้นไป)
  2. อุปกรณ์จ่ายไฟ แบบ Quick Charge 3.0 โดยจะทำงานร่วมกับ CPU ในการปรับแรงดันและกระแสในช่วง 3.6 โวลต์ ถึง 20 โวลต์ หรือ อุปกรณ์จ่ายไฟ แบบ Quick Charge 2.0 โดยจะทำงานร่วมกับ CPU ในการปรับแรงดันและกระแสในช่วง 5 โวลต์ ถึง 12 โวลต์

ดังนั้น แบตเตอรี่พาวเวอร์แบงค์ที่รองรับ QuickCharge นั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่ออุปกรณ์ของสามารถใช้งาน QuickCharge ได้ด้วยเช่นกัน


ทำไมเราถึงแนะนำ Anker Fusion 5000

Power bank รุ่น Fusion ของ Anker ในราคาต่ำกว่า 1,500 บาท

โดยปกติแล้ว คุณจะไม่สามารถชาร์จพาวเวอร์แบงค์และใช้มันชาร์จโทรศัพท์ไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะมันจะส่งผลเสียต่อเซลล์แบตเตอรี่และทำให้อายุการใช้งานนั้นสั้นลง แต่ PowerCore Fusion มีวงจรพิเศษที่รับมือกับการใช้งานแบบนี้ได้ โดยมันจะปรับให้ Fusion ชาร์จอุปกรณ์ที่เสียบเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงชาร์จตัวมันเองเมื่อแบตเตอรี่อุปกรณ์อื่นเต็มแล้ว

หากคุณกำลังมองหาพาวเวอร์แบงค์เพื่อใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และต้องการแบตเตอรี่สำรองที่สะดวกต่อการพกพา ใช้งานง่าย ชาร์จไฟได้รวดเร็ว เราเชื่อว่า Anker PowerCore Fusion 5000 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคุณ

ถึงแม้เมื่อเทียบกับพาวเวอร์แบงค์ในราคาใกล้เคียงกัน มันจะไม่ได้มีมีความจุมากที่สุดหรือมีขนาดเล็กที่สุด แต่การที่ Fusion สามารถเสียบเข้ากับปลั๊กไฟได้โดยตรง และทำงานได้แบบ 2 in 1 คือเป็นทั้ง power bank และอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์ได้ นั้นถือเป็นจุดเด่นที่สุดของแบตเตอรี่สำรองของ Anker รุ่นนี้

เมื่อใช้งาน PowerCore Fusion มันจะทำให้เหมือนกับคุณได้ซื้อ Adapter ชาร์จไฟด้วยในตัว และช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ที่คุณต้องพกในกระเป๋าได้อีกด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าคุณจะได้รับความสะดวกมากกว่าพาวเวอร์แบงค์รุ่นอื่น ๆ แถมยังลดความยุ่งยากในการชาร์จโทรศัพท์ และชาร์จพาวเวอร์แบงค์แยกกัน

นอกจากทีมงาน roonnhaidee ที่ชื่นชอบความสะดวกของ PowerCore Fusion แล้ว เว็บไซต์รีวิวในต่างประเทศหลายแห่ง ยังมีความเห็นคล้ายกัน เช่น ในรีวิวของเว็บไซต์ PCWorld โดย Jason Cipriani ที่ระบุว่าเขาสามารถใช้มันชาร์จแบตโทรศัพท์ได้กับทั้งการเสียบเข้ากับปลั๊กไฟและการใช้ในรูปแบบแบตเตอรี่สำรอง

เมื่อคุณเสียบ PowerCore Fusion เข้ากับปลั๊กไฟ และนำสมาร์ทโฟนมาเสียบเข้าอีกทีหนึ่ง มันจะทำหน้าที่เหมือนเป็น อะแดปเตอร์ ส่งผ่านไฟเข้ากับสมาร์ทโฟนก่อน แต่กระแสไฟสูงสุดที่ได้ จะถูกลดลงเหลือเพียง 2.1 A ถึงแม้จะถือว่าไม่แย่นักเมื่อเทียบกับที่ชาร์จทั่วไป

พาวเวอร์แบงค์ของ Anker รุ่นนี้ สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตได้ด้วยกระแสไฟฟ้าสูงสุด 3A ต่อพอร์ท ซึ่งนับว่าเร็วกว่า Powerbank หลายๆ รุ่น นอกจากนี้ Fusion ยังมีพอร์ท USB-A ทั้งหมด 2 พอร์ทด้วยกัน ทำให้คุณสามารถชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันได้ (ถึงแม้ความเร็วจะลดลง) ในขณะที่รุ่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันส่วนใหญ่มักมีแค่พอร์ทเดียว

ถึงแม้มันจะไม่รองรับ QuickCharge ที่มักจะมาพร้อมกับ Powerbank รุ่นที่มีความจุมากกว่านี้ PowerCore Fusion มีสามารถจ่ายไฟด้วย Amp สูงสุด 3A ต่อพอร์ท ซึ่งนับว่ามากกว่า Powerbank รุ่นยอดยินยมหลายรุ่นในตลาด และสามารถชาร์จไฟด้วยความเร็วสูงสุดแบบมาตรฐานกับอุปกรณ์ส่วนใหญ่ เช่น ไอโฟน และ ไอแพด

PowerCore Fusion 5000 สามารถชาร์จไอโฟน 6 7 8 ได้มากกว่า 1 รอบ (ประมาณ1-1.5 รอบ) สำหรับการชาร์จไฟเข้าตัวพาวเวอร์แบงค์เอง คุณสามารถชาร์จผ่านปลั๊กไฟหรือพอร์ท Micro-USB ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

พาวเวอร์แบงค์ Anker PowerCore Fusion

ข้อเสียที่คนส่วนใหญ่น่าจะรับได้

ทีมงานของเราบางคนยังรู้สึกว่า ขนาด 2.8 x 2.8 x 1.2 นิ้ว นับว่าค่อนข้างใหญ่สำหรับการพกพาเมื่อเทียบกับพาวเวอร์แบงค์ความจุ 5000 mAh รุ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะความหนาที่เรารู้สึกว่าทำให้พกพาได้ลำบาก และบางครั้งทำให้เกะกะระหว่างใช้ปลั๊กไฟร่วมกับอุปกรณ์อื่น แต่เรายังคงเห็นด้วยว่าความสะดวกที่ไม่ต้องพกตัวชาร์จเพิ่มอีกหนึ่งอันสามารถชดเชยในข้อนี้ได้

นอกจากนี้ ด้วยความจุไฟเพียง 5000 mAh ทำให้มันไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการแบตเตอรี่สำรองสำหรับ iPad หรือแท็บเล็ตอื่น ๆ ซึ่งหากคุณต้องใช้งานพาวเวอร์แบงค์กับอุปกรณ์หลายชิ้น เราคิดว่าคุณควรอัพเกรดเป็นรุ่น 20100

ในด้านความเร็วในการชาร์จไฟ ถึงแม้มันจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีของ Anker ที่เรียกว่า PowerIQ และ VoltageBoost ซึ่งช่วยจัดสรรกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถชาร์จไฟได้เร็วที่สุด PowerCore Fusion นั้นไม่รองรับ Qualcomm Quick Charge ที่อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่าง LG G6 และ G7


รุ่นอัพเกรด: Anker PowerCore 20100

พาวเวอร์แบงค์ รุ่นไหนดี

สำหรับคนที่กำลังมองหาพาวเวอร์แบงค์สำหรับการใช้งานแบบจริงจัง เพื่อชาร์จอุปกรณ์หลายชิ้นอยู่เป็นประจำ เราเชื่อว่า Anker PowerCore 20100 น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ

Anker PowerCore รุ่นนี้มีความจุ 20100 mAh มากพอที่จะชาร์จสมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ได้อย่างสบาย ๆ มันสามารถชาร์จ iPhone 8 ได้ถึงราว 6.5 รอบ และชาร์จ iPad ได้ประมาณ 1.5 รอบ ทำให้มันเหมาะกับการใช้งานระหว่างการเดินทางไกล ๆ และการใช้งานอย่างจริงจัง

ไม่ใช่เราเท่านั้นที่แนะนำ PowerCore 20100 เพราะนอกจาก power bank รุ่นนี้จะได้รับคะแนนสูงถึง 9.5/10 จากเว็บไซต์ chargerharbor.com ขณะที่ TechRadar ยกให้มันเป็น “หนึ่งในพาวเวอร์แบงค์รุ่นที่ดีที่สุด” ในรีวิวเมื่อเดือนที่ผ่านมา

ด้วย Maximum output รวมสูงสุดถึง 4.8A พาวเวอร์แบงค์ของ Anker รุ่นนี้มีความโดดเด่นในเรื่องในความเร็วในการชาร์จแบบมาตรฐาน โดยมีพอร์ท USB-A จำนวน 2 พอร์ตด้วยกัน ซึ่งแต่ละพอร์ตมีอัตราการส่งผ่านกระแสไฟสูงสุดอยู่ที่ 5V/2.4A ทำให้มันสามารถชาร์จสมาร์ทโฟน ได้พร้อมกัน 2 เครื่องที่ความเร็วสูงสุด

ถึงแม้มันจะไม่รองรับเทคโนโลยี QuickCharge (ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้เท่านั้น) PowerCore 20100 ยังมีเทคโนโลยี PowerIQ ของ Anker ซึ่งช่วยจัดสรรการจ่ายกระแสไฟให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

เรายังชอบดีไซน์ที่มีลักษณะยาวเรียวกว่ารุ่นส่วนใหญ่ที่มีความจุแบตเตอรี่ใกล้เคียง เนื่องจากทำให้มันไม่เกะกะพื้นที่ในกระเป๋า การออกแบบที่โค้งมนยังทำให้หยิบจับได้สะดวก วัสดุภายนอกที่ทำจากโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ให้ความรู้สึกแข็งแรงทนทาน รวมถึงมีพื้นผิวด้านที่ทำให้ไม่เป็นรอยได้ง่าย ๆ

สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นข้อเสียของการใช้งานพาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้ คือมันใช้เวลานานมากในการชาร์จไฟให้เต็ม ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมงด้วยการชาร์จผ่าน charger แบบ 2A ทั่ว ๆ ไป

แต่เราคิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะในการใช้งานจริง ผู้ที่ใช้งานแบบจริงจังส่วนใหญ่น่าจะสามารถจัดการหาเวลาชาร์จไฟพาวเวอร์แบงค์ข้ามคืนล่วงหน้าได้ไม่ยาก นอกจากนี้เรายังรู้สึกว่าการอัพเกรดเป็นรุ่นที่ชาร์จเร็วขึ้นด้วย USB-C ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 1 พันบาท นั้นถือว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ เว้นแต่ว่าคุณมีอุปกรณ์ที่รองรับ USB-C เป็นหลัก

ชาร์จไฟ พาวเวอร์แบงค์

นอกจากนี้ ไฟสีฟ้าดวงเล็ก ๆ 4 ดวง ที่ทำหน้าที่บอกปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ นั้นอาจถือว่าไม่แม่นยำและละเอียดเมื่อเทียบกับการบอกปริมาณเป็นตัวเลขและ % บนหน้าจอของพาวเวอร์แบงค์บางรุ่น แต่ทีมงานของเราหลายคนไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาและบางคนยังคิดว่าสะดวกกว่าอีกด้วย


ตัวเลือกอื่น

Aukey 20000 mAh

พาวเวอร์แบงค์จากแบรนด์ Aukey ที่กำลังได้รับความนิยม มีราคาหน้าตาและความจุ ใกล้เคียงกับรุ่นอัพเกรดที่เราแนะนำ แต่มันมี max output รวมอยู่ที่ 3.4 A ซึ่งน้อยกว่า Anker PowerCore 20100 ที่มีค่า max output 4.8 A ทำให้แบตเตอรี่สำรองรุ่นนี้ของ Aukey ไม่สามารถชาร์จไฟได้เต็มความเร็วสูงสุดเมื่อชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันสองอัน

Yoobao Q20c

เพาเวอร์แบงค์ของ Yoobao หลายรุ่นทำออกมาได้น่าใช้ ด้วยหน้าจอ LED แสดงสถานะของแบตเตอรี่ แต่เรารู้สึกว่านั่นเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นนัก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าแอมป์สูงสุดของแต่ละพอร์ทที่ 2A เท่านั้นแล้ว (เช่นเดียวกับ Yoobao Q30 และ C13) ด้วยราคาสูงกว่า 2,000 บาทและรับประศูนย์แค่ 1 ปี เราคิดว่า PowerCore 20100 ยังเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่า

Eloop E29

พาวเวอร์แบงค์ของ Eloop อีกรุ่นหนึ่งที่มีสเปคและราคาน่าสนใจ ที่มาพร้อมกับ USB-C ด้วย แต่เราพบว่ามีความเห็นบนโลกออนไลน์ รวมทั้งเว็บไซต์ Pantip จำนวนไม่น้อยที่เล่าถึงประสบการณ์ใช้งานที่ไม่เสถียรในด้านความเร็วในการชาร์จและไฟแสดงสถานะของแบตเตอรี่ ด้วยราคาประมาณ 1 พันบาท พร้อมการรับประกันสินค้าเพียง 1 ปี น้ำหนักที่มากถึง 450 กรัม เราคิดว่าหากคุณไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับ QuickCharge พาวเวอร์แบงค์รุ่นที่เราแนะนำทั้งสองรุ่นน่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว

Eloop E14

หนึ่งในพาวเวอร์แบงค์ที่รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทยรุ่นนี้ มีความจุ 20,000 mAh ใกล้เคียงกับ PowerCore 20100 รวมทั้งมีพอร์ท USB จำนวน 2 พอร์ทเท่ากัน อย่างไรก็ตาม Maximum output ของทั้งสองพอร์ทนั้นอยู่ที่ 1A และ 2.1A นั่นหมายความว่ามันจะชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น iPad ได้ช้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อใช้งานทั้ง 2 พอร์ท อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่ถูกกว่ารุ่นเราแนะนำเกือบครึ่ง มันยังถือเป็นตัวเลือกรุ่นประหยัดที่ดีเช่นกัน

iWalk Link ME

พาวเวอร์แบงค์รุ่นเล็กกะทัดรัด ที่มาพร้อมกับหัวเชื่อมต่อสำหรับชาร์จโทรศัพท์ได้โดยตรง โดยคุณสามารถเลือกได้ว่าต้องการพอร์ท Micro-USB, Lightning หรือ USB-C ถึงแม้จะมีขนาดกะทัดรัดพกพาสะดวก เมื่อเสียบใช้งานแล้วทีมงานของเรากับรู้สึกว่ามันเกะกะกว่าการเสียบผ่านสายชาร์จเข้ากับพาวเวอร์แบงค์ตามปกติ นอกจากนี้ เรามองว่ามันมีข้อจำกัดในการใช้งานด้วยการจำกัดพอร์ทเชื่อมต่อเพียงแบบเดียว แถมยังมีความจุเพียง 3,000 mAh  ซึ่งเรามองว่าน้อยเกินไปสำหรับชาร์จสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

iWalk Scorpion

เราชอบพาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้ของ iWalk ที่มีความบางเพียง 15 mm และมาพร้อมกับสายชาร์จในตัวซึ่งเพิ่มความสะดวกและเป็นระเบียบ แต่ด้วย maximum output ต่อพอร์ทแค่ 2.4A ทำให้มันชาร์จได้ช้ากว่าทั้งสองรุ่นที่เราแนะนำ ประกอบกับราคาในไทยที่สูงถึงราว 2,800 บาท ที่ความจุ 8,000 mAh ทำให้เราคิดว่ามันยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง