จากการค้นคว้าข้อมูลและเปรียบเทียบ power bank (พาวเวอร์แบงค์) หลายรุ่นที่มีวางขายในไทย ทีมงาน roonnhaidee เชื่อว่า Anker PowerCore Fusion 5000 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่มองหาแบตเตอรี่สำรองไว้ใช้สำหรับชาร์จโทรศัพท์ระหว่างวันหรือขณะเดินทางเป็นหลัก
Anker Fusion มีจุดเด่นสำคัญ คือ การใช้งานแบบ 2 in 1 ที่สามารถใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองและอะแดปเตอร์ชาร์จไฟได้ในตัวเดียว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ไม่ต้องพกอุปกรณ์หลายชิ้นแล้ว มันยังผลิตด้วยวัสดุคุณภาพสูง และมีความเร็วในการชาร์จที่ดีกว่าพาวเวอร์แบงค์ในราคาและความจุใกล้เคียงกันส่วนใหญ่
Tips: เพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าปลอม หากคุณจะซื้อ Power Bank ของ Anker เราแนะนำว่าควรซื้อผ่าน Anker Thailand ซึ่งเป็นร้านของบริษัท แม็กเพาเวอร์ เทคโนโลยี จำกัด ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยที่ Anker ให้การรับรอง
พาวเวอร์แบงค์แบบ 2-in-1 ที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ ช่วยให้คุณไม่ต้องพกที่ชาร์จ
เช็คราคาบน Lazada เช็คราคาบน Shopeeสำหรับคนที่ต้องการใช้งาน power bank สำหรับอุปกรณ์หลายชิ้นอยู่เป็นประจำ เราคิดว่าคุณควรเลือกอัพเกรดเป็นรุ่นที่มีความจุและความเร็วในการชาร์จที่สูงขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่า Anker PowerCore 20100 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคนที่ใช้งานอย่างจริงจัง นอกจากจะเป็นรุ่นที่เว็บไซต์ในต่างประเทศหลายแห่งแนะนำแล้ว PowerCore 20100 ยังทำได้ดีกว่าตัวเลือกอื่น ๆ ในไทยที่มีขนาดความจุและราคาไล่เลี่ยกันในหลายด้าน
รุ่นอัพเกรดสำหรับคนใช้งานแบบจริงจัง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานกับอุปกรณ์มากกว่า 1 ชิ้น
เช็คราคาบน Lazada รวมสินค้าลดราคาสารบัญ
- ก่อนซื้อ power bank ต้องดูอะไรบ้าง
- โวลท์ แอมป์ วัตต์ ต่างกันอย่างไร
- ความเร็วในการชาร์จไฟ
- QuickCharge คืออะไร และสำคัญแค่ไหน
- รุ่นที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่ Anker Fusion
- ทำไมเราถึงแนะนำ พาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้
- รุ่นอัพเกรดสำหรับการใช้งานจริงจัง
- Anker PowerCore 20100 เหมาะสำหรับใคร
- ตัวเลือกอื่น ๆ
ก่อนซื้อ power bank ต้องดูอะไรบ้าง
หากคุณประสบปัญหาอุปกรณ์ที่ใช้อยู่นั่นมีแบตเตอรี่หมดระหว่างวันอยู่บ่อย ๆ ทั้งในการใช้งานประจำวัน วันที่ต้องใช้งานมากกว่าปกติ หรือแม้แต่ลืมชาร์จโทรศัพท์ก่อนออกจากบ้าน การมีแบตเตอรี่สำรองพกพาติดตัวไว้จะช่วยให้คุณสามารถใช้โทรศัพท์ได้อย่างไม่สะดุด ซึ่งบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการทำงานของหลาย ๆ คน
ถึงแม้มันจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะหาปลั๊กไฟเพื่อชาร์จโทรศัพท์ แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณจะพบว่าคุณไม่สามารถนั่งอยู่กับที่เพื่อรอให้อุปกรณ์ค่อย ๆ ชาร์จไฟได้เป็นเวลานาน นั่นทำให้พาวเวอร์แบงค์มีประโยชน์กว่าการพกอะแดปเตอร์ในหลาย ๆ สถานการณ์
“ถ้าความเร็วในการชาร์จเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณ คุณควรจะมองหา Power Bank ที่มีค่า amp (maximum output) ที่สูง”
ก่อนเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ คุณควรจะตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าการใช้งานของคุณเป็นแบบไหน เพราะความต้องการในการใช้งานสำหรับคนที่แค่ต้องการชาร์จโทรศัพท์ระหว่างวันเป็นครั้งคราว กับคนที่ต้องการชาร์จไอแพดเพื่อทำงานนอกสถานที่เป็นเวลานาน ๆ เป็นประจำ นั้นแตกต่างกัน
คุณควรรู้ก่อนว่าอุปกรณ์อะไรบ้างที่คุณต้องการชาร์จเป็นประจำ (เช่น สมาร์ทโฟน iPad หรือ หูฟัง) คุณควรพิจาณาด้วยว่าคุณจำเป็นต้องชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยพาวเวอร์แบงค์บ่อยแค่ไหน (กี่ครั้งต่อวันหรือสัปดาห์) รวมถึงขนาดและน้ำหนักที่คุณรู้สึกว่ารับได้ในการพกพาติดตัวไปด้วย
ในการเลือกพิจารณาพาวเวอร์แบงค์ ทีมงานของเราให้ความสำคัญกับความสะดวกในการใช้งานจริงเป็นหลัก ซึ่งนั่นนับรวมถึง ความเร็วในการชาร์จ ความจุของแบตเตอรี่ จำนวนพอร์ทการเชื่อมต่อ ขนาด น้ำหนัก การออกแบบ และฟังก์ชั่นเสริมอื่น ๆ
โวลท์ แอมป์ วัตต์ ของพาวเวอร์แบงค์
ในการเลือกซื้อ power bank และอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ต่าง ๆ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับหน่วยวัดในระบบไฟฟ้า จะสามาถช่วยให้คุณเข้าใจคุณสมบัติของแต่ละรุ่นได้ง่ายขึ้น
เว็บไซต์ KARE THAILAND ได้อธิบาย ทั้ง 3 ค่านี้ไว้อย่างง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบมันกับการเปิดน้ำประปาตามบ้าน
- V หรือ Volt (โวลท์) คือ แรงดันไฟฟ้า = เหมือนเราเปิดก๊อกหรือเครื่องปั๊มน้ำ เปิดก๊อกจนสุดหรือเปิดเครื่องปั๊ม น้ำก็พุ่งไปไกล
- A หรือ Amp (แอมป์) คือ กระแสไฟฟ้า = เหมือนกับขนาดของท่อน้ำ หรือสายยาง ท่อใหญ่ส่งน้ำได้มากกว่า น้ำไหลได้สะดวกกว่า
- W หรือ Watt (วัตต์) คือ หน่วยวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า = เปิดน้ำแล้วเอากะละมังมารองน้ำไว้ น้ำในกะละมัง (สามารถคำนวณได้ด้วยการนำ V คูณกับ A)
ความเร็วในการชาร์จ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเลือก power bank คือความเร็วในการชาร์จ เพราะในการใช้งานจริงนั้น บ่อยครั้งเรามักจะต้องการชาร์จไฟให้ได้มากที่สุดในช่วงเวลาที่สั้นที่สุด
ถ้าหากถ้าความเร็วในการชาร์จเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคุณ สิ่งที่คุณควรพิจารณาคือค่า A สูงสุดในที่ระบุไว้ใน maximum output ของแต่ละพอร์ท โดยเมื่อเปรียบเทียบ power bank ส่วนใหญ่ ซึ่งมีค่าแรงดันไฟฟ้ามาตรฐาน 5V ความเร็วในการชาร์จไฟของพาวเวอร์แบงค์นั้นขึ้นอยู่กับค่า maximum output ที่มีตั้งแต่ 1 – 4.8A พาวเวอร์แบงค์ที่มีค่าแอมป์ยิ่งสูงยิ่งทำให้อุปกรณ์ดึงเอาไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปใช้ได้มากขึ้น
ในสมัยก่อน อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ส่วนใหญ่ ชาร์จไฟด้วยกระแสไฟ 0.5 A จากพอร์ท USB ก่อนจะรองรับกระแสไฟได้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการพัฒนาของเทคโนโลยี ปัจจุบันอุปกรณ์หลายชนิด เช่น iPad ที่สามารถดึงกระแสไฟได้ถึง 3A ซึ่งหากพาวเวอร์แบงค์ของคุณสามารถส่งกระแสไฟได้สูงสุดที่ 2.1A นั่นก็จะทำให้คุณไม่สามารถชาร์จด้วยความเร็วสูงสุดที่ 2.1A เท่านั้น และนั้นเป็นสาเหตุที่คุณต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการชาร์จ iPad ด้วยที่ชาร์จมาตรฐานของไอโฟนซึ่งมี max output เพียง 1A เท่านั้น
- iPhone รุ่นไหนดี: ซื้อไอโฟน 13 รุ่นไหนคุ้มค่าที่สุด
- ซื้อโทรศัพท์มือถือใน Lazada ดีไหม ทำไมจึงราคาถูก
- เม้าส์ไร้สาย รุ่นไหนดีที่สุดสำหรับการใช้งานจริง
- Flash Drive ยี่ห้อและรุ่นไหนดีที่สุดในการใช้งานจริง
QuickCharge คืออะไร และสำคัญแค่ไหน?
QuickCharge เป็นเทคโนโลยีซึ่งถูกคิดค้นและผลักดันโดย Qualcomm บริษัทผู้ผลิตชิปสมาร์ทโฟน ซึ่งสามารถช่วยให้โทรศัพท์ชาร์จแบตเตอรี่ได้ปริมาณไฟที่มากขึ้นในเวลาที่น้อยลงได้ โดยอาศัยการทำงานร่วมกับซีพียูของโทรศัพท์ในการปรับปริมาณการรับกระแสไฟ
ก่อนหน้านี้ เทคโนโลยี Quick Charge 2.0 (หรือที่เรียกว่า Fast Charge ในมือถือ Samsung S7 S8 S9 และ USB PD ของไอโฟน 8 X, XR, XS, XS Max) สามารถปรับการรับกระแสไฟได้ในระหว่างช่วง 5 – 12 V ทำให้สามารถชาร์จไฟจาก 0-50% ได้ในเวลา 30 นาที
ขณะที่ QuickCharge 3.0 ซึ่งมาพร้อมกับมือถือบางรุ่นในปัจจุบัน อย่าง LG G6, G7, Xiaomi Mi 6 จะสามารถชาร์จไฟจาก 0-80% ได้ภายใน 30 นาที (สามารถดูรายชื่อสมาร์ทโฟนที่รองรับ QuickCharge ชนิดต่าง ๆ ได้ที่นี่)
เพจเฟซบุ๊กของ Aukey Thailand ได้อธิบายการใช้งาน QuickCharge เอาไว้ว่าจะสามารถใช้งานได้ ด้วยองค์ประกอบสองสองส่วน ได้แก่
- Smartphone ที่ใช้ CPU Qualcomm ที่รองรับ Quick Charge 3.0 (CPU Snapdragon 820, 620, 618, 617 และ 430) หรือ Quick Charge 2.0 (CPU Snapdragon 800 ขึ้นไป)
- อุปกรณ์จ่ายไฟ แบบ Quick Charge 3.0 โดยจะทำงานร่วมกับ CPU ในการปรับแรงดันและกระแสในช่วง 3.6 โวลต์ ถึง 20 โวลต์ หรือ อุปกรณ์จ่ายไฟ แบบ Quick Charge 2.0 โดยจะทำงานร่วมกับ CPU ในการปรับแรงดันและกระแสในช่วง 5 โวลต์ ถึง 12 โวลต์
ดังนั้น แบตเตอรี่พาวเวอร์แบงค์ที่รองรับ QuickCharge นั้นจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่ออุปกรณ์ของสามารถใช้งาน QuickCharge ได้ด้วยเช่นกัน
ทำไมเราถึงแนะนำ Anker Fusion 5000
โดยปกติแล้ว คุณจะไม่สามารถชาร์จพาวเวอร์แบงค์และใช้มันชาร์จโทรศัพท์ไปพร้อม ๆ กันได้ เพราะมันจะส่งผลเสียต่อเซลล์แบตเตอรี่และทำให้อายุการใช้งานนั้นสั้นลง แต่ PowerCore Fusion มีวงจรพิเศษที่รับมือกับการใช้งานแบบนี้ได้ โดยมันจะปรับให้ Fusion ชาร์จอุปกรณ์ที่เสียบเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงชาร์จตัวมันเองเมื่อแบตเตอรี่อุปกรณ์อื่นเต็มแล้ว
หากคุณกำลังมองหาพาวเวอร์แบงค์เพื่อใช้ชาร์จสมาร์ทโฟนเป็นหลัก และต้องการแบตเตอรี่สำรองที่สะดวกต่อการพกพา ใช้งานง่าย ชาร์จไฟได้รวดเร็ว เราเชื่อว่า Anker PowerCore Fusion 5000 เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับคุณ
ถึงแม้เมื่อเทียบกับพาวเวอร์แบงค์ในราคาใกล้เคียงกัน มันจะไม่ได้มีมีความจุมากที่สุดหรือมีขนาดเล็กที่สุด แต่การที่ Fusion สามารถเสียบเข้ากับปลั๊กไฟได้โดยตรง และทำงานได้แบบ 2 in 1 คือเป็นทั้ง power bank และอะแดปเตอร์ชาร์จโทรศัพท์ได้ นั้นถือเป็นจุดเด่นที่สุดของแบตเตอรี่สำรองของ Anker รุ่นนี้
เมื่อใช้งาน PowerCore Fusion มันจะทำให้เหมือนกับคุณได้ซื้อ Adapter ชาร์จไฟด้วยในตัว และช่วยลดจำนวนอุปกรณ์ที่คุณต้องพกในกระเป๋าได้อีกด้วย ซึ่งเราเชื่อว่าคุณจะได้รับความสะดวกมากกว่าพาวเวอร์แบงค์รุ่นอื่น ๆ แถมยังลดความยุ่งยากในการชาร์จโทรศัพท์ และชาร์จพาวเวอร์แบงค์แยกกัน
นอกจากทีมงาน roonnhaidee ที่ชื่นชอบความสะดวกของ PowerCore Fusion แล้ว เว็บไซต์รีวิวในต่างประเทศหลายแห่ง ยังมีความเห็นคล้ายกัน เช่น ในรีวิวของเว็บไซต์ PCWorld โดย Jason Cipriani ที่ระบุว่าเขาสามารถใช้มันชาร์จแบตโทรศัพท์ได้กับทั้งการเสียบเข้ากับปลั๊กไฟและการใช้ในรูปแบบแบตเตอรี่สำรอง
เมื่อคุณเสียบ PowerCore Fusion เข้ากับปลั๊กไฟ และนำสมาร์ทโฟนมาเสียบเข้าอีกทีหนึ่ง มันจะทำหน้าที่เหมือนเป็น อะแดปเตอร์ ส่งผ่านไฟเข้ากับสมาร์ทโฟนก่อน แต่กระแสไฟสูงสุดที่ได้ จะถูกลดลงเหลือเพียง 2.1 A ถึงแม้จะถือว่าไม่แย่นักเมื่อเทียบกับที่ชาร์จทั่วไป
พาวเวอร์แบงค์ของ Anker รุ่นนี้ สามารถชาร์จสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตได้ด้วยกระแสไฟฟ้าสูงสุด 3A ต่อพอร์ท ซึ่งนับว่าเร็วกว่า Powerbank หลายๆ รุ่น นอกจากนี้ Fusion ยังมีพอร์ท USB-A ทั้งหมด 2 พอร์ทด้วยกัน ทำให้คุณสามารถชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันได้ (ถึงแม้ความเร็วจะลดลง) ในขณะที่รุ่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันส่วนใหญ่มักมีแค่พอร์ทเดียว
ถึงแม้มันจะไม่รองรับ QuickCharge ที่มักจะมาพร้อมกับ Powerbank รุ่นที่มีความจุมากกว่านี้ PowerCore Fusion มีสามารถจ่ายไฟด้วย Amp สูงสุด 3A ต่อพอร์ท ซึ่งนับว่ามากกว่า Powerbank รุ่นยอดยินยมหลายรุ่นในตลาด และสามารถชาร์จไฟด้วยความเร็วสูงสุดแบบมาตรฐานกับอุปกรณ์ส่วนใหญ่ เช่น ไอโฟน และ ไอแพด
PowerCore Fusion 5000 สามารถชาร์จไอโฟน 6 7 8 ได้มากกว่า 1 รอบ (ประมาณ1-1.5 รอบ) สำหรับการชาร์จไฟเข้าตัวพาวเวอร์แบงค์เอง คุณสามารถชาร์จผ่านปลั๊กไฟหรือพอร์ท Micro-USB ซึ่งใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง
ข้อเสียที่คนส่วนใหญ่น่าจะรับได้
ทีมงานของเราบางคนยังรู้สึกว่า ขนาด 2.8 x 2.8 x 1.2 นิ้ว นับว่าค่อนข้างใหญ่สำหรับการพกพาเมื่อเทียบกับพาวเวอร์แบงค์ความจุ 5000 mAh รุ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะความหนาที่เรารู้สึกว่าทำให้พกพาได้ลำบาก และบางครั้งทำให้เกะกะระหว่างใช้ปลั๊กไฟร่วมกับอุปกรณ์อื่น แต่เรายังคงเห็นด้วยว่าความสะดวกที่ไม่ต้องพกตัวชาร์จเพิ่มอีกหนึ่งอันสามารถชดเชยในข้อนี้ได้
นอกจากนี้ ด้วยความจุไฟเพียง 5000 mAh ทำให้มันไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการแบตเตอรี่สำรองสำหรับ iPad หรือแท็บเล็ตอื่น ๆ ซึ่งหากคุณต้องใช้งานพาวเวอร์แบงค์กับอุปกรณ์หลายชิ้น เราคิดว่าคุณควรอัพเกรดเป็นรุ่น 20100
ในด้านความเร็วในการชาร์จไฟ ถึงแม้มันจะมาพร้อมกับเทคโนโลยีของ Anker ที่เรียกว่า PowerIQ และ VoltageBoost ซึ่งช่วยจัดสรรกระแสไฟฟ้าให้อุปกรณ์แต่ละชิ้นสามารถชาร์จไฟได้เร็วที่สุด PowerCore Fusion นั้นไม่รองรับ Qualcomm Quick Charge ที่อาจเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนอย่าง LG G6 และ G7
รุ่นอัพเกรด: Anker PowerCore 20100
สำหรับคนที่กำลังมองหาพาวเวอร์แบงค์สำหรับการใช้งานแบบจริงจัง เพื่อชาร์จอุปกรณ์หลายชิ้นอยู่เป็นประจำ เราเชื่อว่า Anker PowerCore 20100 น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
Anker PowerCore รุ่นนี้มีความจุ 20100 mAh มากพอที่จะชาร์จสมาร์ทโฟน และแทบเล็ต ได้อย่างสบาย ๆ มันสามารถชาร์จ iPhone 8 ได้ถึงราว 6.5 รอบ และชาร์จ iPad ได้ประมาณ 1.5 รอบ ทำให้มันเหมาะกับการใช้งานระหว่างการเดินทางไกล ๆ และการใช้งานอย่างจริงจัง
ไม่ใช่เราเท่านั้นที่แนะนำ PowerCore 20100 เพราะนอกจาก power bank รุ่นนี้จะได้รับคะแนนสูงถึง 9.5/10 จากเว็บไซต์ chargerharbor.com ขณะที่ TechRadar ยกให้มันเป็น “หนึ่งในพาวเวอร์แบงค์รุ่นที่ดีที่สุด” ในรีวิวเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ด้วย Maximum output รวมสูงสุดถึง 4.8A พาวเวอร์แบงค์ของ Anker รุ่นนี้มีความโดดเด่นในเรื่องในความเร็วในการชาร์จแบบมาตรฐาน โดยมีพอร์ท USB-A จำนวน 2 พอร์ตด้วยกัน ซึ่งแต่ละพอร์ตมีอัตราการส่งผ่านกระแสไฟสูงสุดอยู่ที่ 5V/2.4A ทำให้มันสามารถชาร์จสมาร์ทโฟน ได้พร้อมกัน 2 เครื่องที่ความเร็วสูงสุด
ถึงแม้มันจะไม่รองรับเทคโนโลยี QuickCharge (ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับเทคโนโลยีนี้เท่านั้น) PowerCore 20100 ยังมีเทคโนโลยี PowerIQ ของ Anker ซึ่งช่วยจัดสรรการจ่ายกระแสไฟให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
เรายังชอบดีไซน์ที่มีลักษณะยาวเรียวกว่ารุ่นส่วนใหญ่ที่มีความจุแบตเตอรี่ใกล้เคียง เนื่องจากทำให้มันไม่เกะกะพื้นที่ในกระเป๋า การออกแบบที่โค้งมนยังทำให้หยิบจับได้สะดวก วัสดุภายนอกที่ทำจากโพลีคาร์บอเนต (polycarbonate) ให้ความรู้สึกแข็งแรงทนทาน รวมถึงมีพื้นผิวด้านที่ทำให้ไม่เป็นรอยได้ง่าย ๆ
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นข้อเสียของการใช้งานพาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้ คือมันใช้เวลานานมากในการชาร์จไฟให้เต็ม ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่า 10 ชั่วโมงด้วยการชาร์จผ่าน charger แบบ 2A ทั่ว ๆ ไป
แต่เราคิดว่ามันยังเป็นเรื่องที่รับได้ เพราะในการใช้งานจริง ผู้ที่ใช้งานแบบจริงจังส่วนใหญ่น่าจะสามารถจัดการหาเวลาชาร์จไฟพาวเวอร์แบงค์ข้ามคืนล่วงหน้าได้ไม่ยาก นอกจากนี้เรายังรู้สึกว่าการอัพเกรดเป็นรุ่นที่ชาร์จเร็วขึ้นด้วย USB-C ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มมากกว่า 1 พันบาท นั้นถือว่าแพงเกินไปเมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้ เว้นแต่ว่าคุณมีอุปกรณ์ที่รองรับ USB-C เป็นหลัก
นอกจากนี้ ไฟสีฟ้าดวงเล็ก ๆ 4 ดวง ที่ทำหน้าที่บอกปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ นั้นอาจถือว่าไม่แม่นยำและละเอียดเมื่อเทียบกับการบอกปริมาณเป็นตัวเลขและ % บนหน้าจอของพาวเวอร์แบงค์บางรุ่น แต่ทีมงานของเราหลายคนไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาและบางคนยังคิดว่าสะดวกกว่าอีกด้วย
ตัวเลือกอื่น
พาวเวอร์แบงค์จากแบรนด์ Aukey ที่กำลังได้รับความนิยม มีราคาหน้าตาและความจุ ใกล้เคียงกับรุ่นอัพเกรดที่เราแนะนำ แต่มันมี max output รวมอยู่ที่ 3.4 A ซึ่งน้อยกว่า Anker PowerCore 20100 ที่มีค่า max output 4.8 A ทำให้แบตเตอรี่สำรองรุ่นนี้ของ Aukey ไม่สามารถชาร์จไฟได้เต็มความเร็วสูงสุดเมื่อชาร์จอุปกรณ์พร้อมกันสองอัน
เพาเวอร์แบงค์ของ Yoobao หลายรุ่นทำออกมาได้น่าใช้ ด้วยหน้าจอ LED แสดงสถานะของแบตเตอรี่ แต่เรารู้สึกว่านั่นเป็นฟังก์ชั่นที่ไม่จำเป็นนัก นอกจากนี้เมื่อพิจารณาค่าแอมป์สูงสุดของแต่ละพอร์ทที่ 2A เท่านั้นแล้ว (เช่นเดียวกับ Yoobao Q30 และ C13) ด้วยราคาสูงกว่า 2,000 บาทและรับประศูนย์แค่ 1 ปี เราคิดว่า PowerCore 20100 ยังเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่า
พาวเวอร์แบงค์ของ Eloop อีกรุ่นหนึ่งที่มีสเปคและราคาน่าสนใจ ที่มาพร้อมกับ USB-C ด้วย แต่เราพบว่ามีความเห็นบนโลกออนไลน์ รวมทั้งเว็บไซต์ Pantip จำนวนไม่น้อยที่เล่าถึงประสบการณ์ใช้งานที่ไม่เสถียรในด้านความเร็วในการชาร์จและไฟแสดงสถานะของแบตเตอรี่ ด้วยราคาประมาณ 1 พันบาท พร้อมการรับประกันสินค้าเพียง 1 ปี น้ำหนักที่มากถึง 450 กรัม เราคิดว่าหากคุณไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับ QuickCharge พาวเวอร์แบงค์รุ่นที่เราแนะนำทั้งสองรุ่นน่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ากว่าในระยะยาว
หนึ่งในพาวเวอร์แบงค์ที่รุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในไทยรุ่นนี้ มีความจุ 20,000 mAh ใกล้เคียงกับ PowerCore 20100 รวมทั้งมีพอร์ท USB จำนวน 2 พอร์ทเท่ากัน อย่างไรก็ตาม Maximum output ของทั้งสองพอร์ทนั้นอยู่ที่ 1A และ 2.1A นั่นหมายความว่ามันจะชาร์จอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น iPad ได้ช้ากว่าอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อใช้งานทั้ง 2 พอร์ท อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่ถูกกว่ารุ่นเราแนะนำเกือบครึ่ง มันยังถือเป็นตัวเลือกรุ่นประหยัดที่ดีเช่นกัน
พาวเวอร์แบงค์รุ่นเล็กกะทัดรัด ที่มาพร้อมกับหัวเชื่อมต่อสำหรับชาร์จโทรศัพท์ได้โดยตรง โดยคุณสามารถเลือกได้ว่าต้องการพอร์ท Micro-USB, Lightning หรือ USB-C ถึงแม้จะมีขนาดกะทัดรัดพกพาสะดวก เมื่อเสียบใช้งานแล้วทีมงานของเรากับรู้สึกว่ามันเกะกะกว่าการเสียบผ่านสายชาร์จเข้ากับพาวเวอร์แบงค์ตามปกติ นอกจากนี้ เรามองว่ามันมีข้อจำกัดในการใช้งานด้วยการจำกัดพอร์ทเชื่อมต่อเพียงแบบเดียว แถมยังมีความจุเพียง 3,000 mAh ซึ่งเรามองว่าน้อยเกินไปสำหรับชาร์จสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่ในปัจจุบัน
เราชอบพาวเวอร์แบงค์รุ่นนี้ของ iWalk ที่มีความบางเพียง 15 mm และมาพร้อมกับสายชาร์จในตัวซึ่งเพิ่มความสะดวกและเป็นระเบียบ แต่ด้วย maximum output ต่อพอร์ทแค่ 2.4A ทำให้มันชาร์จได้ช้ากว่าทั้งสองรุ่นที่เราแนะนำ ประกอบกับราคาในไทยที่สูงถึงราว 2,800 บาท ที่ความจุ 8,000 mAh ทำให้เราคิดว่ามันยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง
เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง