บัตรเครดิต Cashback vs. สะสมแต้ม ของ KBank แบบไหนคุ้มกว่า ลองมาเปรียบเทียบการใช้งานสำหรับส่วนลดร้านอาหารกัน
เมื่อไม่นานนี้ ผมได้ย้ายบัญชีธนาคารจาก SCB มา KBank ด้วยเหตุผลทางการเมือง ตามที่เคยมีแคมเปญ #แบนSCB เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว คำถามที่ตามมาก็คือจะย้ายไปที่ไหนดี เอาเข้าจริงก็มีตัวเลือกหลายธนาคาร แต่ผมตัดสินใจเลือก KBank เพราะถามเพื่อนหลายๆ คนแล้ว แอปของกสิกรใช้งานได้สะดวกกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆ
หลายคนที่ต้องการย้ายธนาคาร ก็คงกังวลเหมือนผมเกี่ยวกับความยุ่งยาก เพราะการย้ายธนาคาร รวมถึงบริการต่างๆ นั้นก็ไม่ง่ายนัก ทั้งบัตรเครดิต-เดบิต ที่ผูกไว้กับบัญชีต่างๆ เช่น Netflix, YouTube, Spotify และ PayPal เป็นต้น หรือบางคนอาจเคยซื้อกองทุนที่มีสัญญาผูกพันธ์ เช่น RMF LTF หรือเปิดพอร์ตหุ้นกับ SCBS ทั้งหมดนี้ดูยุ่งยากพอสมควร
แต่ผมอยากจะบอกว่าพอเริ่มขั้นตอนย้ายจริงๆ แล้ว ผมคิดว่ามันก็ไม่ได้ยากจนเกินไป (ค่อยๆ ย้ายไปทีละอย่าง) ถ้าคุณต้องการจะแบน SCB จริงๆ และเมื่อทำเสร็จแล้วรู้สึกดีมาก ยกเว้นอย่างหนึ่ง คือ ผมคิดว่าแอปธนาคารของ SCB นั้น UI ดีกว่า Kbank มาก เพราะทำให้ดูบัญชีต่างๆ รวมถึงพอร์ตการลงทุนได้ในหน้าเดียวกันได้อย่างเป็นระเบียบ แต่ก็ช่างมันเถอะครับ!
- กาวตราช้าง ยี่ห้อไหนดีที่สุด ที่มีวางขายในเซเว่น
- Lazada ลดราคาวันไหน โปรโมชั่นลาซาด้า
- ซื้อโน๊ตบุ๊ค ออนไลน์ ที่ไหนดี
บัตรเครดิต cashback vs. สะสมแต้ม กสิกร
หลังจากเปิดบัญชีใหม่ของ KBank และย้ายรายการต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ก็มาถึงคิวบัตรเครดิต ซึ่งดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมบัตรจากผู้ใช้บัตรและร้านค้า ก็เป็นรายได้หนึ่งของธนาคารเช่นกัน ดังนั้นผมจึงคิดว่า นอกจากปิดบัญชีและย้ายเงินออกมาแล้วนั้น ผมจำเป็นต้องสมัครบัตรเครดิตใหม่ เพื่อจะได้เลิกใช้บัตรของ SCB
KBank มีบัตรให้เลือกหลายแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะสะสมแต้ม เช่น บัตร PTT Blue Card หรือ KBank Platinum ที่ใช้จ่ายทุก 25 บาท จะได้ 1 คะแนน เก็บไว้ใช้ร่วมโปรโมชั่นเป็นส่วนลดได้ ซึ่งที่เราเห็นบ่อยๆ ก็จะเป็นพวก ใช้คะแนนเท่ายอดที่ต้องจ่าย เพื่อรับส่วนลด 10-15% แต่ก็มีกรณีที่ลดได้เลยโดยไม่ต้องใช้คะแนนด้วยเช่นกัน
แต่ผมมาสะดุดกับบัตรเครดิตอีกประเภท นั่นก็คือบัตร Mastercard Titanium ของ KBank ซึ่งไม่สามารถสะสมแต้มได้ แต่จะคืนเงินในแต่ละรอบบิลแทน สูงสุด 1% ตามรายการดังนี้
- เติมน้ำมัน คืน 1%
- ซูเปอร์มาร์เก็ต 1%
- ร้านอาหาร 1%
- อื่น ๆ 0.25%
โดยทุกๆ รอบบิลก็จะได้ส่วนลดโดยไม่มีขั้นต่ำ แต่สูงุสดไม่เกิน 2,000 บาท (แต่ละหมวดไม่เกิน 500 บาท) ซึ่งถ้าจะได้คืน 2,000 บาท นั้นต้องใช้รวมกันเกิน 2 แสนบาท ซึ่งเกินวงเงินผมไปเยอะพอสมควร! ถ้าจะเติมน้ำมันให้ได้เงินคืน 500 บาท ต้องเติมทั้งหมด 50,000 บาท เพราะฉะนั้นมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ถ้าฟังดูคร่าวๆ จะเห็นว่า บัตรประเภทแคชแบ็คนี้อาจจะไม่คุ้มค่านักเมื่อเทียบกับแบบสะสมแต้ม สมมติว่าเราไปกินข้าว 2,000 บาท และใช้คะแนนแลกส่วนลดได้ 10% หรือ 200 บาท ก็ดูจะคุ้มกว่า Cashback ที่จะได้คืนแค่ 20 บาท และต้องกินร้านอาหารถึง 20,000 บาท ถึงจะได้ลด 200 บาท เท่ากัน
อย่างไรก็ตาม หากเราดูกันที่เงื่อนไขการสะสมแต้ม เราจะพบว่า กว่าจะได้คะแนนครบ 2,000 คะแนน ซึ่งนำมาแลกส่วนลดร้านอาหาร เราต้องใช้จ่ายรวม 50,000 บาท กว่าจะได้มา 2,000 คะแนน (25 บาท=1 คะแนน)
ดังนั้น ถ้าเรามาลองคำนวณใหม่ โดยคิดว่าเราใช้จ่ายเงินทั้งหมด 50,000 บาท จะได้เงินคืนเท่าไหร่ และแบบไหนคุ้มกว่า
- แบบสะสมแต้ม รูดร้านอาหาร 50,000 บาท ได้ 2,000 คะแนน นำมาแลกส่วนลดร้านอาหาร 10% ได้เงินคืน 200 บาท
- แบบ cashback รูดร้านอาหาร 50,000 บาท ได้เงินคืนทันที 1% ได้เงินคืน 500 บาท
จะเห็นได้ว่าถ้าคิดแบบนี้ บัตร Titanium ก็จะคุ้มกว่ามาก และเป็นเหตุผลหลักที่ผมเลือกใช้บัตร cashback แทน
อย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงนั้น มีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้การเปรียบเทียบไม่ได้ง่ายแบบนี้ เช่น
- บัตรสะสมแต้ม บางครั้งอาจได้คะแนน 2-5 เท่า ตามโปรโมชั่นพิเศษ และบางครั้งอาจใช้คะแนนลดได้มากกว่า 10%
- บัตรสะสมแต้ม บางครั้งได้ส่วนลดแบบต้องไม่ใช้คะแนน โดยที่บัตร cashback ไม่ได้ส่วนลด
- บัตรสะสมแต้ม ของ Kbank มีสิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น Lounge สนามบิน ที่จอดรถพิเศษ (ซึ่งผมไม่สนับสนุนสิทธิพิเศษแบบนี้อยู่แล้ว)
- บัตร cashback ที่ผมคำนวณข้างต้น อาจไม่ได้จริง 1% เพราะหลายรายการจะได้ cashback แค่ 0.25%
ส่วนปัจจัยเสริมที่ทำให้ผมเลือกบัตร Cashback คือ การที่ผมไม่ต้องมานั่งคิดเรื่องจะใช้คะแนนสะสมอย่างไรให้คุ้มที่สุด หรือบางครั้งก็อาจเผลอซื้อของที่ไม่ได้อยากได้ แต่เพราะเห็นว่าใช้คะแนนแลกส่วนลดได้
ทั้งนี้ คนที่ใช้บัตรเครดิตเก่งๆ อาจจะมีเทคนิคอื่นๆ ที่ทำให้บัตรแบบสะสมคะแนนคุ้มค่ากว่าก็ได้ และยังมีบัตรเครดิต Cashback อื่นๆ ที่อาจให้อัตราสูงกว่า 1% ที่อาจเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกัน
โดยรวมแล้วผมคิดว่าส่วนลดที่ได้จากบัตรทั้งสองแบบ คงไม่ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของผมเปลี่ยนไปมากนัก หากประเมินจากพฤติกรรมการใช้บัตรของตัวเอง ดังนั้นผมเลยเลือกบัตร Cashback ไว้ใช้สำหรับธุรกรรมที่จำเป็นต้องใช้บัตร และเอาตัวเองออกมาจากโลกของการสะสมแต้ม รวมถึงออกมาจากการเป็นลูกค้า SCB ด้วย
เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง