มือถือยี่ห้อไหน “ขายดีที่สุด” ในไทย สรุปสถิติปีล่าสุด

ยอดขายโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนในประเทศไทยในปีล่าสุด อยู่ที่ 18.2 ล้านเครื่อง ตามข้อมูลจาก IDC บริษัทวิจัยชั้นนำ มาดูกันว่ามือถือยี่ห้อไหนขายดีที่สุด

แม้จะลดลงจากปีก่อนหน้านั้นอยู่ราว 5.5% ก็ยังถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของบริษัทชั้นนำ อาทิ ซัมซุง แอปเปิล รวมถึงมือถือราคาประหยัด อย่าง OPPO และ Vivo ซึ่งดูเหมือนจะแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้นเรื่อยๆ

อันดับมือถือขายดีที่สุด

มือถือยี่ห้อไหนไหนขายดีที่สุด

1. Samsung สัดส่วน 24%

ซัมซุง ยังคงรักษาอันดับในตลาดมือถือของไทย ด้วยสัดส่วนถึง 24% แม้ว่าในปีที่ผ่านมา ซัมซุงจะมียอดขายลดลง 5% สาเหตุหลักมากจาก ยอดที่หดหายไปของมือถือตระกูล “Galaxy J” ซึ่งขายดีอย่างมากในปี 2561 และถูกแทนที่ด้วยการทำตลาดของ “Galaxy A” ที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งในราคาและสเป็กใกล้เคียงกันอย่างมาก

แม้ว่าทั้ง Galaxy A 10 และ A10s จะทำยอดขายได้ดีในปี 2562 แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับ Galaxy J ในปี 2561

2. OPPO สัดส่วน 23%

แบรนด์ยอดนิยมอย่าง OPPO ซึ่งมี OPPO A5 และ A5s ที่ขายดีอย่างมากในปี 2562 มียอดขายเติบโตถึง 14% ในปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าตลาดมือถือราคาประหยัด และการขายผ่านค่ายมือถือยังเป็นตลาดส่วนสำคัญในไทย

3. Vivo สัดส่วน 16%

มือถือของ vivo มียอดขายโตขึ้น 23% ซึ่งถือว่าเติบโตในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง OPPO เนื่องจากได้ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากรุ่น Y ที่มีราคาย่อมเยาและสามารถพัฒนาความร่วมมือกับค่ายโทรคมนาคม โดยที่ Y91 และ Y11 เป็นรุ่นที่ขายดีที่สุดในปี 2562



4. Huawei สัดส่วน 12% 

ปี 2562 อาจเรียกได้ว่าเป็นปีมรสุมของมือถือค่าย Huawei ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในไทยได้เพิ่มขึ้นมาตลอด จนกระทั่งเกิดปัญหากับสหรัฐฯ จนทำให้ Google ต้องประกาศหยุดร่วมงานกับ Huawei และทำให้เกิดความไม่แน่ใจว่า มือถือของ Huawei จะสามารถใช้ ระบบปฏิบัติการ Android ได้อีกนานแค่ไหน

ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายในไทยของ Huawei ลดลง 28% จากปีก่อนหน้า แม้ว่าจะมี Y7 Pro เป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายดีที่สุดแห่งปีก็ตาม

5. Apple สัดส่วน 10%

การเปิดตัวของ Apple Store ในไทย เป็นการยืนยันว่า แอปเปิลนั้นจริงจังกับตลาดมือถือไทยแค่ไหน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า ยอดขายของ Apple ที่โตขึ้นถึง 22% ในปีที่ผ่านมานั้น ต้องยกความดีความชอบให้กับทั้งไอโฟน 11 และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาจับต้องได้มากขึ้น

ทั้งนี้ IDC ยังตั้งข้อสังเกตว่าในปีที่ผ่านมา ค่ายมือถือเบนเข็มจากการทำแบรนด์มือถือของตัวเอง มาเลือกร่วมงานกับมือถือรุ่นเล็กของแบรนด์ใหญ่มากขึ้น โดยเสนอราคาพิเศษให้ลูกค้าประเภทติดสัญญาแบบรายเดือน ซึ่งถือเป็นดีลที่วิน-วิน กันทั้งลูกค้า ค่ายมือถือ และผู้ผลิตมือถือ