วิธีคิดค่าไฟบ้าน สูตรคำนวณค่าไฟฟ้าแบบง่ายๆ

การอยู่บ้าน โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนนั้น มักทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่เราสามารถคำนวณค่าไฟด้วยตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าค่าไฟนั้นไม่แพงเกินจริง

วิธีคิดค่าไฟบ้าน เพื่อหาค่าไฟคร่าวๆ ในแต่ละเดือน เริ่มจากการสังเกตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และนำมาเข้าสูตรคำนวณหาจำนวนยูนิตที่ใช้ในแต่ละเดือน ก่อนจะนำไปคิดค่าไฟในอัตราก้าวหน้า ตามขั้นตอนดังนี้


เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละเครื่องใช้ไฟเท่าไหร่

สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ คิดหาจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละวันของเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน โดยมีวิธีดังนี้

  1. ดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้นในบ้านใช้กำลังไฟฟ้ากี่วัตต์ (Watt)
    • เช่น ไดร์เป่าผม ใช้กำลังไฟ 2,400 วัตต์ หม้อทอดไร้น้ำมัน ใช้กำลังไฟ 1,500 วัตต์
  2. ดูจำนวนชั่วโมงเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละเครื่องใน 1 วัน
    • เช่น เปิดแอร์ 8 ชั่วโมง ดูทีวี 3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น
  3. นำตัวเลขทั้งสองอย่าง มาเข้าสูตรเพื่อหาจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือน ตามวิธีด้านล่างนี้

สูตรคำนวณหน่วยไฟฟ้า

สูตรคำนวณหน่วยไฟฟ้า ให้นำจำนวนวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้า มาหารด้วย 1,000 เพื่อแปลงเป็นหน่วย kWh จากนั้นคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่ใช้ต่อวัน และคูณ 30 อีกครั้ง เพื่อหาจำนวนหน่วยไฟฟ้าต่อเดือน

  • กำลังไฟฟ้า (วัตต์) ÷ 1,000 x ชั่วโมงที่ใช้งานต่อวัน x 30 = จำนวนหน่วยไฟฟ้าต่อเดือน

ทำการคำนวณแบบเดียวกันนี้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทั้งหมด เช่น

  • ทีวี ขนาด 100 วัตต์ 1 เครื่อง ใช้ไฟวันละ 3 ชั่วโมง
    • 100 ÷ 1,000 x 3 x 30 = 9
    • เท่ากับ 9 หน่วยต่อเดือน
  • ไมโครเวฟ ขนาด 900 วัตต์ 1 เครื่อง ใช้ไฟวันละ 1 ชั่วโมง
    • 900 ÷ 1,000 x 1 x 30 = 27
    • เท่ากับ 27 หน่วยต่อเดือน
  • ไดร์เป่าผม ขนาด 2,400 วัตต์ 1 เครื่อง ใช้ไฟวันละ 0.5 ชั่วโมง
    • 2,400 ÷ 1,000 x 0.5 x 30 = 360
    • เท่ากับ 360 หน่วยต่อเดือน
  • หลอดไฟ ขนาด 40 วัตต์ 4 ดวง ใช้ไฟวันละ 5 ชั่วโมง
    • (40 x 4) ÷ 1,000 x 5 x 30 = 24
    • เท่ากับ 24 หน่วยต่อเดือน
  • ตู้เย็น ขนาด 600 วัตต์ 1 เครื่อง ใช้ไฟวันละ 24 หน่วย
    • 600 ÷ 1,000 x 24 x 30 = 432
    • เท่ากับ 432 หน่วยต่อเดือน

นำจำนวนหน่วยต่อเดือนทั้งหมด (ตัวหนา) มาบวกกัน ได้เท่ากับว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของเราใช้ไฟทั้งหมด 852 หน่วยต่อเดือน

จากนั้นเราจะต้องนำจำนวนหน่วยไฟฟ้า (ยูนิต) ที่ว่านี้ ไปคำนวณค่าไฟที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน ในอัตราก้าวหน้า


วิธีคิดค่าไฟจากมิเตอร์

เราสามารถคิดค่าไฟจากมิเตอร์ได้ด้วยตัวเอง โดยดูจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ในแต่ละเดือนได้จากตัวเลขยูนิตจากบนมิเตอร์ ซึ่งจะต้องนำตัวเลขปัจจุบัน ลบด้วยตัวเลขของเดือนล่าสุด ก็จะได้ออกมาเป็นจำนวนหน่วยที่ต้องนำไปคิดอัตราก้าวหน้า

โปรโมชั่นแนะนำ: ชำระค่าไฟฟ้าผ่าน Lazada ฟรีค่าธรรมเนียม พร้อมรับส่วนลดเพิ่ม ทั้ง กฟผ. และ กฟน.


วิธีคิดค่าไฟฟ้า อัตราก้าวหน้า

ตามตัวอย่างข้างต้น เราจะใช้ไฟประมาณ 852 หน่วยต่อเดือน ซึ่งจะต้องนำมาคิดในอัตราก้าวหน้า ซึ่งหมายความว่า ยิ่งใช้เยอะ จะยิ่งต้องจ่ายในราคาต่อหน่วยที่แพงขึ้นไล่ขึ้นไป

หากยึดตาม อัตราค่าไฟปกติ แบบก้าวหน้า ประเภท 1.1  สำหรับบ้านอยู่อาศัย จะมีอัตราดังนี้

หน่วยที่ 1-15 ราคายูนิตละ 2.3488 บาท = 35.23 บาท
หน่วยที่ 16-25 ราคายูนิตละ 2.9882 บาท = 29.88 บาท
หน่วยที่ 26-35 ราคายูนิตละ 3.2405 บาท = 32.41 บาท
หน่วยที่ 36-100 ราคายูนิตละ 3.6237 บาท = 235.54 บาท
หน่วยที่ 101-150 ราคายูนิตละ 3.7171 บาท = 185.86 บาท
หน่วยที่ 151-400 ราคายูนิตละ 4.2218 บาท = 1,055.45 บาท
หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป ราคายูนิตละ 4.4217 บาท = 1,998.61 บาท

รวมเป็น 3,572.98 บาท

อย่างไรก็ตาม จำนวนที่ได้มานี้ ยังต้องนำมารวมกับ ค่าไฟฟ้าผันแปร ( Ft ) ซึ่งคิดจาก จำนวนพลังงานไฟฟ้า x ค่า Ft
และต้องรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ด้วย

เราแนะนำว่า หากต้องการคำนวณค่าไฟแบบแม่นยำมากขึ้น สามารถเข้าไปใช้แบบฟอร์มของ การไฟฟ้านครหลวง ช่วยคิดแทนได้



ค่าไฟแพงผิดปกติ ควรทำอย่างไร

ถ้าคุณคำนวณแล้วพบว่าค่าไฟผิดปกติมาก ควรสอบถามเจ้าหน้าที่เป็นอย่างแรก เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ เช่น จำนวนหน่วยใช้ไฟเพิ่มสูงขึ้น ทั้งๆ ที่ใช้ไฟเท่าเดิม

ทั้งนี้ หากยังไม่ได้รับคำตอบที่พอใจ คุณสามารถร้องเรียนเกี่ยวกับค่าไฟแพงได้กับทาง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-207-3599 และเว็บไซต์ www.erc.or.th หรือติดต่อตามที่อยู่ข้างล่างนี้

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

319 อาคารจตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน

กรุงเทพฯ 10330