อยากประกอบคอมพิวเตอร์เอง ต้องซื้ออะไรบ้าง

มีเพื่อนๆ หลายคนที่อยากประกอบคอมพิวเตอร์เอง แทนการซื้อแบบประกอบสำเร็จรูป เพราะอยากได้สเปกที่แรงและตรงใจกว่า แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหนและต้องซื้ออะไรบ้าง ซึ่งในวันนี้แอดมินจะมาแนะนำการซื้ออุปกรณ์มาประกอบคอมพิวเตอร์เองว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

ก่อนที่เราจะเริ่มประกอบคอมพิวเตอร์เอง เพื่อนๆควรตั้งเป้าหมายก่อนว่าคอมพิวเตอร์ของเราจะเน้นการใช้งานในด้านใด เช่นประกอบสำหรับเอาไว้เล่นเกมส์โดยเฉพาะ ประกอบสำหรับทำงานด้านเอกสารทั่วไป ทำงานในด้านออกแบบ หรืองานด้านอื่นๆ ซึ่งเราต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในขั้นตอนนี้

เราแนะนำให้ซื้อส่วนประกอบต่างๆ จากร้านที่เชื่อถือได้ เช่น ร้าน Spartan Computer หรือ iHAVECPU

ทีนี้เรามาดูส่วนประกอบที่สำคัญพร้อมวิธีการเลือกซื้อกันครับ โดยส่วนประกอบหลักๆ ของคอมพิวเตอร์จะมี ส่วนประกอบภายใน และส่วนประกอบภายนอก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ส่วนประกอบภายใน

1. เมนบอร์ด

เมนบอร์ด (Mainboard) จะเป็นแผงวงจรหลักที่ใหญ่ที่สุด ที่เป็นศูนย์รวมของอุปกรณ์ภายใน ซ๊อกเกตและพอร์ตต่างๆ โดยการเลือกซื้อ Mainboard มาประกอบคอมพิวเตอร์เองนั้น เพื่อนๆ อาจพิจารณาจากการใช้งานว่าต้องการสเปกแบบใด โดยมีตัวอย่างการเลือกดังนี้

  • หากใช้งานทั่วไป เพื่อนๆ อาจเลือก Mainboard ในระดับใช้งานทั่วไป ที่มีพอร์ตเชื่อมต่อครบพอใช้งาน รองรับซีพียู core i3 – i5 (intel) หรือ Ryzen3 – 5 (AMD) ก็พอสำหรับการใช้งาน โดย mainboard ทั่วไปในปัจจุบันมีขนาดเล็กและประหยัดไฟมากขึ้น
  • การใช้งานในงานที่ต้องการการประมวลผลสูง หรืองานตัดต่อ เพื่อนๆ อาจขยับ Mainboard ไปในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูง รองรับซีพียู core i5 – i7 (intel) หรือ Ryzen5 – 7 (AMD) มีซ๊อกเก็ต PCI-E สำหรับติดตั้งการ์ดจอ
  • การประกอบสำหรับเล่นเกมส์ จะคล้ายกับการประกอบสำหรับการประมวลผลสูง แต่จะเพิ่มเติมในส่วนของซ๊อกเกตติดตั้งการ์ดจอ และซ๊อกเกตติดตั้งแรมจะมีมากขึ้น โดยในปัจจุบัน mainboard รุ่นสำหรับเล่มเกมส์จะติดป้ายว่า Gaming Motherboard เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปประกอบคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมส์โดยเฉพาะ
  • และอีกกลุ่มหนึ่งคือ mainboard สำหรับการขุดเหรียญดิจิทัล โดยในกลุ่มนี้จะเน้นที่มี ซ๊อกเกตการ์ดจอที่มากกว่าปกติ โดยจะมี PCI-E X1 graphics slot มากถึง 11 slot เพื่อใส่การ์ดจอสำหรับขุดเหรียญดิจิทัล

ข้อระวังคือ ซีพียูแต่ละรุ่น จะใช้ซ๊อกเกตต่างกัน จึงต้องศึกษาให้ดีว่า mainboard ของเรารองรับซีพียูรุ่นใด

2. ซีพียู

ซีพียู (CPU) จะทำหน้าที่สมองของคอมพิวเตอร์ โดยจะประมวลผลคำสั่งต่างๆที่รับเข้ามา และส่งผลการประมวลออกไป ในปัจจุบันซีพียูจะมีอยู่ 2 ค่ายหลักๆ ที่จำหน่ายคือ intel และ AMD โดยแบ่งกลุ่มได้ดังนี้

กลุ่ม intel AMD
กลุ่มผู้ใช้งานในราคาประหยัด Series Intel Celeron,Intel Pentium Series AMD Athlon
กลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป Series Intel core i3 Series AMD Ryzen 3
กลุ่มผู้ใช้งานประสิทธิภาพค่อนข้างสูง งานตัดต่อทั่วไป หรือเล่นเกมส์ Series Intel core i5 Series AMD Ryzen 5
กลุ่มผู้ใช้งานประสิทธิภาพสูง งานตัดต่อหนักๆ หรือเล่นเกมส์กราฟฟิกสูงๆ Series Intel core i7,

Intel core i9

Series AMD Ryzen 7,

AMD Ryzen 9

 

ในปัจจุบันนอกจาก Series แล้ว แต่ละค่ายผู้ผลิตยังมีการปรับปรุง Generation ของซีพียูแต่ละ Series ทำให้บางครั้ง ซีพียู Series Intel core i3 Gen ใหม่ๆ อาจมีประสิทธิภาพสูงกว่า Series Intel core i5 Gen เก่าๆ และยังมีราคาที่ถูกกว่า ดังนั้นควรเลือกซีพียู Generation ใหม่ๆ จะดีกว่า

3. แรม RAM

แรม จะทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปให้ซีพียูประมวลผล หากเปรียบซีพียูเหมือนโรงงาน แรมก็เปรียบเสมือนขบวนรถไฟ ทำหน้าที่ขนส่งข้อมูลเข้าออกจากตัวซีพียู ซึ่งหากแรมมีความจุมาก ก็จะทำให้ขนส่งข้อมูลได้ไวขึ้น จึงเป็นที่นิยมว่าหากต้องการให้คอมเร็วขึ้น ให้เพิ่มแรมเข้าไปนั่นเอง

ในส่วนของการเลือกซื้อแรมนั้นมีดังนี้

  • ตรวจสอบ slot สำหรับใส่แรมใน mainboard ว่าใช้งานแรมรุ่นใด เช่น DDR3 DDR4 DDR5 ซึ่งแต่ละรุ่นจะไม่สามารถใส่แทนกันได้
  • เลือกบัสที่สูงสุดที่ mainboard เรารองรับได้ เพราะหากเราอยากประสิทธิภาพสูงสุดก็ให้ดูที่ mainboard เราว่ารองรับบัสสูงสุดได้เท่าไหร่ ก็ให้เลือกบัสสขนาดนั้นได้เลย ซึ่งตัวอย่างเลขบัสจะเป็น 667, 800, 1066 , 1333 หรือ 1600 เป็นต้น
  • เลือกความจุของแรม โดยขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน ในปัจจุบันการใช้งานขั้นต่ำควรจะมีขนาด 4Gb – 8Gb แต่หากใช้งานหนักหรือเล่นเกมส์กราฟฟิกสูงอาจเพิ่มเป็น 16Gb – 32Gb ก็ได้ ขึ้นอยู่กับ mainboard ว่ารองรับได้สูงสุดกี่ Gb

4. การ์ดการ์ดจอ

การ์ดจอ หรือ GPU จะทำหน้าที่ประมวลผลกราฟฟิกเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นงานกราฟฟิกหนักหนัก งานด้านการตัดต่อ หรือการเล่นเกมส์ สำหรับการเลือกซื้อการ์ดจอนั้น กลุ่มคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดหรือใช้งานทั่วไป อาจไม่ต้องใช้การ์ดจอ เพราะในตัวซีพียูรุ่นใหม่จะมี GPU มาให้ใช้งานอยู่แล้ว แต่หากต้องการคอมพิวเตอร์ประมวลผลกราฟฟิกหรือเล่นเกมส์ก็อาจเลือกการ์ดจอตามงบประมาณของเพื่อนก็ได้ครับ

5. ฮาร์ดดิสหรือ SSD

ฮาร์ดดิสจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์ของเรา โดยฮาร์ดดิสจะต่างกับ SSD ตรงที่ ฮาร์ดดิสจะเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบจานหมุม ส่วน SSD จะเป็นอุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบชิพ ซึ่งในปัจจุบัน SSD กำลังเข้ามาแทนที่ฮาร์ดดิสแบบจานหมุนเพราะมีความเร็วสูงกว่ามาก อีกทั้งยังมีขนาดเล็กกว่า

หากประกอบคอมพิวเตอร์ใช้งานทั่วไปอาจเลือก SSD ขนาด 512GB ก็เพียงพอต่อการใช้งาน แต่หากต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลจำนวนมาก เพื่อนๆ อาจซื้อ SSD พร้อมกับฮาร์ดดิสแบบจานหมุนมาใช้งานร่วมกันก็ได้ โดยให้ SSD เก็บข้อมูลสำหรับประมวลผลที่ต้องการความเร็วเช่น Windows, Program ในส่วนฮาร์ดดิสแบบจานหมุนให้เก็บข้อมูลที่มีขนาดใหญ่แต่ไม่ต้องการความเร็วมากนักเช่น ไฟล์มัลติมีเดีย เป็นต้น

6. ชุดจ่ายไฟ หรือ Power Supply

Power Supply เป็นอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่จ่ายไฟให้กับอุปกรณ์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น Mainboard, Harddisk และพัดลมระบายความร้อนต่างๆ สำหรับการเลือกซื้อจะต้องดูที่กำลังไฟ หรือวัต โดยมีตัวย่อเป็น Watt หากเพื่อนๆประกอบคอมสำหรับใช้งานทั่วไปก็สามารถเลือก Power Supply แบบทั่วไป 400W – 750W ก็ได้ แต่หากนำมาใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ประกอบสำหรับเล่นเกมส์หรือใช้งานในระดับสูง ต้องเพิ่มกำลังวัตไปถึง 800W – 1600W เพื่อให้พอกับความต้องการของอุปกรณ์ภายในครับ

ส่วนประกอบภายนอก

สำหรับส่วนประกอบภายนอกนั้น จะประกอบด้วยอุปกรณ์ดังนี้

7. เคสสำหรับใส่อุปกรณ์ภายใน

เคสนั้นจะแบ่งลักษณะกันอย่างชัดเจนระหว่างเคสสำหรับคอมพิวเตอร์ใช้งานทั่วไปและเคสสำหรับประกอบคอมเล่นเกมส์หรือใช้งานระดับสูง โดยเคสสำหรับการเล่นเกมส์นั้นจะมีขนาดใหญ่และมีพัดลมมากกว่าเคสใช้งานทั่วไปครับ

8. จอแสดงผล

การเลือกซื้อจอคอมพิวเตอร์นั้นไม่มีข้อจำกัดอะไรมาก เพราะในปัจจุบันเทคโนโลยีจอแสดงผลของแต่ละค่ายใกล้เคียงกันมาก ซึ่งขึ้นอยู่กับเพื่อนๆว่าต้องการขนาดจอใหญ่แค่ไหน และมีรีเฟรชเรทเท่าไร ซึ่งค่ารีเฟรชเรทนั้นอาจสำคัญต่อการเล่นเกมมากกว่าการใช้งานทั่วไป

9. เมาส์และคีย์บอร์ด

เม้าส์และคีย์บอร์ดในตลาดจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เมาส์และคีย์บอร์ดสำหรับใช้งานทั่วไป และสำหรับเกมเมอร์ ซึ่งในกลุ่มของเกมเมอร์นั้นจะมีลักษณะสีสันสวยงาม มีปุ่มฟังก์ชันให้มาเพื่อช่วยในการเล่นเกมส์ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงกว่ากลุ่มการใช้งานปกติมาก

สเปคคอมแนะนำ

หลังจากที่เรารู้จักอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ที่นี้เราลองมาดูตัวอย่างการจัดสเปกประกอบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นแนวทางกันครับ

ตัวอย่างจัดสเปกประกอบคอมพิวเตอร์ สำหรับใช้งานทั่วไป

Mainboard Asrock H610M HDV/M.2
CPU INTEL CORE I3-10105 LGA 1200
RAM KINGSTON 8G BUS 3200
SSD M.2 SAMSUNG 970 250G
Power Supply CORSAIR VC550

ตัวอย่างการจัดสเปกประกอบคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมส์

Mainboard MAINBOARD (1200) GIGABYTE H410M
CPU Intel Core i7 11700F
RAM KINGSTON 16G BUS 3600
VGA GTX1660S
SSD M.2 SAMSUNG 970 250G
Power Supply CORSAIR CV650W

 จากตัวอย่างจะเป็นการแนะนำสำหรับอุปกรณ์ภายในเท่านั้น เนื่องจากอุปกรณ์ภายนอกและเคสจะขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน

และทั้งหมดนี้ก็คือการแนะนำอุปกรณ์สำหรับประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งหัวใจหลักในการประกอบคอมฯก็คือการมีเป้าหมายว่าเราจะประกอบไปใช้งานในด้านใด และสามารถอัพเดทในอนาคตได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งานให้มากที่สุดนั่นเองครับ

เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง

ปุ่มเพิ่มเพื่อน