11 กาวชนิดต่างๆ ใช้ติดวัสดุอะไรได้บ้าง

รู้ก่อนซื้อ! ใช้ให้ถูกประเภท กาวชนิดต่างๆ แต่ละประเภทนั้นแตกต่างกันอย่างไร?

หลากหลายเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน ล้วนเกี่ยวข้องกับการ ยึด ติด เกาะ เกี่ยว กันทั้งนั้น ที่พูดอยู่นี้ไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์แต่อย่างใด แต่กำลังจะให้ผู้อ่านได้เห็นความสำคัญ ของอุปกรณ์ที่ใช้ยึดเกาะสิ่งของต่างๆเข้าด้วยกัน หรือใช้ในเชิงการซ่อมแซม การประกอบ นั่นก็คือ ประโยชน์ของ “กาว” นั่นเอง

หลายๆคนคงรู้จักกันดี ว่าคุณสมบัติของกาวมีหน้าที่อย่างไร แต่อย่าลืมว่า บนโลกนี้มีกาวหลายแบบเหลือเกิน แล้วอย่างนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากาวแบบไหน เหมาะกับใช้ทำอะไร วันนี้เราจะพาผู้อ่าน ไปรู้จักกาวแต่ละประเภทกัน

กาว คือ สิ่งที่มีคุณสมบัติในการยึดเกาะสิ่งต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่กาวจะมีส่วนผสมหลัก คือ โพลีเมอร์ โดยสามารถใช้ได้กับหลายๆพื้นผิว แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติของกาวแต่ละชนิด เพราะฉะนั้น ทุกคนควรเรียนรู้ว่า กาวประเภทต่างๆมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อการใช้งานที่ถูกต้อง

10 ชนิดกาวยอดฮิต ใช้งานให้ถูกประเภท

1. กาวลาเท็กซ์ (Latex Glue)

กาวลาเท็กซ์ เป็นกาวชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูง ใช้สำหรับติด ไม้ กระดาษ และงานฝีมือทั่วไป โดยเนื้อกาวมีทั้งที่เป็นแบบธรรมชาติและสังเคราะห์ขึ้น แต่คุณสมบัติของกาวไม่ได้แตกต่างกันนัก เป็นกาวประเภทที่มีความยืดหยุ่นสูง มีความเหนียวข้น และที่สำคัญคือแห้งช้า เหมาะกับงานที่น้ำหนักเบา ติดง่าย ไม่มีแรงดึงหรือกระชากมากนัก ใช้งานได้ทั่วไป เช่น งานโปสเตอร์ งานประดิษฐ์ งานฝีมือที่ใช้ติดสิ่งของที่มีน้ำหนักเบาๆ เท่านั้น

2. กาวร้อน (Hot Glue)

กาวร้อน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไดโก้ 105 หรือ 101 เป็นกาวที่มีลักษณะเหลวเป็นน้ำ มักจะมีเนื้อใสแต่เมื่อใช้งานจะแห้งและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว และจะเกิดความร้อนในช่วงที่กำลังแข็งตัว ควรระมัดระวังไม่ให้โดนส่วนต่างๆ ของร่างกาย แม้จะสามารถล้างออกด้วยน้ำได้แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควร กาวชนิดนี้เป็นอีกกาวหนึ่งที่เรียกว่ากาวอเนกประสงค์จริงๆ ไม่ว่าจะใช้ติด งานเซรามิก งานไม้ งานซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับเนื้อยาง หรือพลาสติกบางชนิดและไม่ควรใช้กับสิ่งของที่ต้องโดนน้ำตลอดเวลา เพราะจะทำให้กาวเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

3. กาวตราช้าง (Super Glue)

กาวตราช้าง นั้นเป็นกาวที่มีลักษณะทางเคมีใกล้เคียงกับกาวร้อน แต่จะมีลักษณะเป็นเจลใสที่ความหนืดมากกว่า ทำให้กาวตราช้างนั้นยึดเกาะได้แข็งแรงกว่ากาวร้อน แต่ก็จะใช้เวลาแห้งนานกว่า ข้อดีของเนื้อกาวแบบกึ่งเจลนี้ คือ เราสามารถขยับวัสดุได้หลังจากทากาวแล้ว จึงเหมาะกับงานที่ต้องการความละเอียดหรือพื้นที่แคบๆ โดยกาวช้างยี่ห้อที่เราแนะนำ ได้แก่ กาวตราช้าง เคนจิ ที่มีวางขายตามเซเว่น เหมาะกับใช้ซ่อมรองเท้า เครื่องหนัง งานไม้ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

กาวตราช้าง เซเว่น

4. กาวตะปู (Construction Adhesive)

กาวตะปู เป็นกาวที่มีลักษณะเป็นหลอดแท่งไว้สำหรับยิงกาวออกมา คุณสมบัติของกาวตะปู ก็ตรงตามชื่อเรียกเลย กาวที่ใช้แทนการตอกตะปูนั่นเอง เป็นกาวที่มีความแข็งแรง ทนทาน ยึดเกาะพื้นผิวได้ดี โดยเฉพาะพื้นผิวที่เรียบ กาวชนิดนี้ติดแน่นเหมือนตอกตะปูไว้เลย ส่วนใหญ่ใช้ในงานที่ไม่สามารถตอกตะปูลงไปได้ หรือพื้นที่ห้ามตอกตะปู มักจะเป็นงานก่อสร้างอาคาร ห้อง คอนโดหรืองานที่ต้องการความละเอียดไม่ต้องการให้สิ่งของเสียหายหรือชำรุดได้ง่าย เช่น กระจกเงา นั่นเอง

5. กาวซีเมนต์ (Cement Glue)

กาวซีเมนต์ หรือที่คนในวงการมักเรียกง่ายๆว่า “ปูนกาว” เป็นการผสมกันระหว่างกาวและปูนเข้าด้วยกันในปริมาณที่เหมาะสมต่อการยึดเกาะ ใช้แทนปูนผสมทรายปกติซึ่งจะไม่ค่อยมีความละเอียดและสึกกร่อนได้ง่าย ข้อดีของกาวปูนคือช่วยยึดเกาะวัตถุได้ดีมาก มักใช้กับประเภทงานก่อสร้าง ปูพื้นกระเบื้อง ปูลงอิฐ ปูกำแพงต่างๆ ใช้ได้กับทุกพื้นผิว ทั้งงานปูใหม่หรือการปูทับอันเดิม เพราะกาวปูนเป็นกาวที่มีความเหนียวและทนทานมากอีกชนิดหนึ่ง ทำให้ใช้งานง่าย มีทั้งแบบเป็นผงให้มาผสมเอง และแบบสำเร็จรูป สามารถเลือกได้ตามความถนัดเลย

6. กาวอีพ็อกซี่ (Epoxy Glue)

กาวอีพ็อกซี่ หรือเรียกอีกอย่างว่า กาวอุดรอยรั่ว ซึม รอยแตกร้าวต่างๆ เรียกว่าเป็นกาวมหาอุดก็ว่าได้ กาวชนิดนี้จะมีความทนทานและแข็งตัวอย่างรวดเร็ว จึงไม่ค่อยมีความยืดหยุ่น นิยมนำมาใช้ในงานที่ต้องซ่อมแซมและใช้อุดตามรอยรั่วต่างๆ หรือรอยร้าว เมื่อแข็งตัวแล้วจะยึดเกาะแน่นหนา สามารถใช้ได้สารพัดประโยชน์ หลายพื้นผิว ทั้งแก้ว กระจก ไม้ พลาสติก กระเบื้อง อิฐ ปูน คอนกรีต แม้แต่พื้นที่ที่เปียกน้ำหรืออยู่ใต้น้ำ ก็สามารถใช้งานได้อย่างดีเยี่ยมเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะต้องนำสาร A B ที่แยกหลอดมาให้ผสมเข้าด้วยกันก่อนจะแข็งตัว

7. กาวอะลิฟาติก หรือ กาวยาง (Rubber Glue)

กาวยาง เป็น กาวสารพัดประโยชน์ที่เรามักเห็นกันบ่อยอีกตัวนึง ซึ่งมีลักษณะเป็นกาวสีเหลืองข้นๆเหนียวๆ กาวยางนี้ค่อนข้างจะแห้งช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงแล้วแต่ความหนาบางของการใช้ กาวยางเหมาะไว้ใช้ติดงานประเภทงานประกอบ งานทำเฟอร์นิเจอร์ งานซ่อมแซม เป็นกาวที่มีความเหนียวและยึดเกาะสูงอีกประเภทหนึ่ง เราจึงเห็นเหล่าช่างมักพกกาวแบบนี้เสมอ

8. กาวหลอมร้อน (Glue Guns)

กาวชนิดนี้เป็นกาวที่มีลักษณะเป็นแท่งแข็ง จะมีทั้งแบบใสและขุ่น ซึ่งการใช้กาวประเภทนี้จำเป็นต้องใช้ปืนยิงกาวร้อนไฟฟ้า สำหรับไว้ใส่แท่งกาวเพื่อหลอมละลาย ให้กาวเปลี่ยนสถานะจากของของแข็งสู่ของเหลว เมื่อใช้งานกาวที่ยิงออกไปจะมีรูปร่างเหลวเหนียว แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้สักพักจะแข็งและยึดเกาะวัตถุได้ดี นิยมใช้ในงานฝีมือ หรืองานช่างที่ไม่ต้องการความแข็งแรงมากนักแต่ยึดติดทนทาน เช่น พวกงานประดิษฐ์ งานหัตถกรรม งานไม้เนื้ออ่อน งาน DIY

9. กาวติดผ้า (Fabric Glue)

กาวสำหรับใช้งานกับผ้าโดยเฉพาะ มีคุณสมบัติแห้งเร็วและสามารถใช้บนพื้นผิวที่เป็นผ้าได้อย่างทนทาน ไม่ทำให้ผ้าเสียหาย ใช้ได้ทั้งกับงานผ้าแบบใหญ่ หรืองานเล็กๆอย่างเก็บริมของชุดก็ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกาวชนิดนี้จะไม่ก่อเกิดอันตรายและไม่มีสารพิษที่ส่งผลเสียต่อผิวหนังของร่างกาย

10. กระดาษกาว หรือเรียกว่าเทปกาวก็ได้

กาวประเภทนี้เป็นกาวม้วน ที่มาในรูปแบบม้วนกลมๆ มีหลายชนิด หลากเนื้อผิวให้ได้เลือก เช่น เทปกาวใส, เทปกาวผ้า, เทปกาวพลาสติก, เทปกาวกระดาษและเทปกาวสองหน้า เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเทปกาว จะสามารถยึดเกาะสิ่งต่างๆได้ขึ้นอยู่กับประเภทของเทปกาวนั้นๆ เทปกาวจะเน้นการใช้งานสะดวก รวดเร็วและไม่ต้องรอแห้ง สามารถใช้งานได้ทันที มีทั้งแบบติดทนถาวร และแบบติดชั่วคราว ซึ่งก็ต้องเลือกใช้ตามความต้องการนั่นเอง

11. เทปกาวพันสายไฟ

เทปพันสายไฟ มีคุณสมบัติกันไฟฟ้าได้ดี ช่างไฟฟ้ามักนิยมใช้และพกติดตัวเสมอ เพราะเทปกาวชนิดนี้จะไม่เป็นตัวนำไฟฟ้าทำให้ป้องกันการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าได้ดี รวมถึงเทปพันสายไฟบางชนิดสามารถทนความร้อนได้สูงมาก ซึ่งในตระกูลเทปพันสายไฟมีเยอะมาก แต่ด้วยคุณสมบัติทั้งหมดก็เพื่อกันกระแสไฟฟ้านั่นเอง ทั้งนี้ เราแนะนำให้เลือกซื้อยี่ห้อที่มีมาตรฐาน มอก. เพื่อความปลอดภัยและสบายใจในระยะยาว


3 ประเภทของกาว ที่ควรรู้

1. ประเภทกาวน้ำหรือกาวเหลว (Water Based) เป็นกาวที่ละลายได้ด้วยน้ำ มีคุณสมบัติเป็นของเหลว สามารถใช้ลูกกลิ้งหรืออุปกรณ์ในการปาด เก็บรายละเอียดได้ดี มีความยืดหยุ่นสูงแต่มักจะแห้งช้า

2. ประเภทกาวที่มีตัวทำละลาย (Solvent Based) เช่น แอลกอฮอล์ จะแห้งเร็วกว่ากาวน้ำปกติมีกลิ่นเหม็น สามารถระเหย รวมถึงติดไฟง่าย สามารถเกิดสารพิษสะสมในร่างกายได้ง่ายเป็นกาวประเภทที่ค่อนข้างอันตราย การใช้ควรระมัดระวัง

3. ประเภทกาวร้อน (Hot Melt Adhesive) หรือ กาวฮอทเมลท์นั่นเอง กาวประเภทนี้ เป็นกาวที่มักมาในรูปแบบของแข็งก่อน เมื่อจะใช้งานต้องทำละลายโดยใช้ความร้อน จะหลอมละลายเป็นของเหลวในที่สุด หลังจากนั้นเมื่อเย็นตัวลงจะทำให้กาวที่เหลวแข็งขึ้นจนติดแน่นในที่สุด

เราจะเห็นได้ว่ากาวแต่ละชนิดก็จะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ใช้กับงานคนละประเภทกัน มีทั้งแบบงานเล็กไปจนถึงงานใหญ่ ทั้งงานสร้าง งานซ่อมแซม DIY ต่างๆ ซึ่งแต่ละงานจำเป็นต้องใช้กาวที่แตกต่างกัน จึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะฉะนั้นควรระมัดระวังและเลือกใช้กาวให้ถูกประเภทกันด้วยน้า


กันต์ กรรทิพากร

กันต์ กรรทิพากร

นักเขียนบทความ SEO เจาะลึกกลุ่มเป้าหมาย สไตล์บ้านๆ เน้นอ่านง่าย ย่อยง่าย นำไปใช้ได้จริง ชอบการเดินทาง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการนั่งอยู่กับที่

เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง

ปุ่มเพิ่มเพื่อน