เราเตอร์ใส่ซิม ยี่ห้อไหนดี รุ่นไหนใช้งานดีที่สุด

เราเตอร์ใส่ซิม ยี่ห้อไหนดี? จากการค้นคว้าข้อมูลและทดสอบ 4G Router หลายยี่ห้อ เราเชื่อว่า Archer MR200 ของ TP-Link เป็นรุ่นที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่

เราเลือกแนะนำ TP-Link MR200 ซึ่งเป็นเราเตอร์แบบ Dual Band รองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงที่ใช้สะดวกในการใช้งานจริง ถึงแม้จะถือว่ามีราคาค่อนข้างสูงกว่ายี่ห้ออื่นเล็กน้อย

จุดเด่นของเราเตอร์ TP-Link รุ่นนี้ คือการเชื่อมต่อสัญญาณ 4G ได้อย่างรวดเร็วและเสถียรในการทดสอบของเรา นอกจากนี้ มันยังสามารถกระจายสัญญาณแบบ Dual-Band ที่ทำให้ได้เปรียบในการใช้งานในพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi อื่นรบกวน

ถึงแม้ผู้ใช้งานหลายคนอาจใช้กับ SIM อินเทอร์เน็ตแบบจำกัดความเร็วสูงสุด หรือใช้งานนอกสถานที่ชั่วคราว เราคิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนกับเราเตอร์รุ่นที่สามารถนำไปใช้งานกับอินเทอร์เน็ต ADSL หรือใช้งานรูปแบบอื่น ๆ ได้อนาคต

ถึงแม้เราคิดว่ามันจะไม่คุ้มค่ากับราคาเมื่อเทียบกับ TP-Link MR200 ที่เราแนะนำ แต่ MR6400 สามารถทำงานได้ดีไม่แพ้กันโดยเฉพาะกับการใช้งานกับซิมแบบจำกัดความเร็วในที่พักอาศัยทั่วไป

แต่หากคุณกำลังมองหาเราเตอร์แบบใส่ซิมไว้ใช้ที่บ้านเป็นหลัก และไม่อยากลงทุนมากเกินไปกับเราเตอร์หนึ่งตัว TP-Link Archer MR6400 ซึ่งเป็นรุ่น Single Band ก็อาจเพียงพอแล้วต่อการใช้งานสำหรับคุณ โดยมาพร้อมกับพอร์ต LAN 4 พอร์ต

เราเตอร์ใส่ซิม 5G

สำหรับคนที่กำลังมองหาเราเตอร์ใส่ซิม 5G ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลือกไม่มากนัก เราคิดว่า เราเตอร์ Huawei 5G CPE Pro 2 น่าจะเป็นรุ่นที่ตอบโจทย์ที่สุดเท่าที่เราได้มีโอกาสทดลองใช้ ทั้งในแง่ราคาและการใช้งาน

อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการใช้ซิม 4G และเราเตอร์ใส่ซิมตามปกติมากกว่า เพราะนอกจากพื้นที่ใช้งาน 5G จะยังจำกัดในประเทศไทย ราคาของเราเตอร์ใส่ซิม 5G ยังสูงมากอีกด้วย

ตามการทดลองใช้ของเรา ความเร็วสูงสุดที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากซิมอย่างมาก แม้ว่าในแง่ความเร็ว ตามทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยี 5G จะสามารถรองรับความเร็วได้สูงสุดถึง 20 Gbps แต่การกระจายสัญญาณผ่าน WiFi 2.4 Ghz หรือ 5Ghz นั้นสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ต่ำกว่า (ระหว่าง 450 Mbps ถึง 1300 Mbps) ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความเร็วสูงสุดของ 5G ได้


สารบัญ


เราเตอร์ใส่ซิม คืออะไร ใช้ดีไหม

ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง เร้าเตอร์ใส่ซิมกับโมเด็มเราเตอร์ปกติ อยู่ตรงที่ความสามารถในการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต 3G/4G LTE จาก SIM card มากระจายต่อในรูปแบบ Wi-Fi ได้

ดังนั้น หากคุณต้องการนำมาใช้กับอินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์หรือ ADSL คุณแทบไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ Router 4G ซึ่งมีราคาแพงกว่ารุ่นสเปคใกล้กันแบบไม่รองรับ 4G

เหตุผลสำคัญที่หลายคนสนใจเราเตอร์แบบใส่ซิม คือ ความคล่องตัวในการใช้งาน เช่น การนำไปใช้ที่บ้านพักตากอากาศในวันหยุด การประชุมนอกสถานที่ และการใช้ในคอนโดหรือหอพักแทนที่การติดสัญญา 1 ปีกับบริษัทอินเทอร์เน็ต

เราเตอร์ใส่ซิมแทบทุกรุ่นนั้นสามารถรองรับความเร็วสูงสุดของ ซิมเทพ หรือ ซิมเน็ตไม่จำกัด ที่จำกัดความเร็วสูงสุดที่ 1-10 Mbps ได้แน่นอน แต่การเลือกเราเตอร์ใส่ซิมที่มีสเปคสูงขึ้นนั้น จะมีส่วนช่วยให้ใช้งานได้ดีกว่าอย่างสัมผัสได้

ถึงแม้ความเร็วสูงสุดที่ได้จากการเช็คความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้นจะออกมาแทบไม่ต่างกัน แต่เราเตอร์ที่มีคุณภาพสูงกว่ายังส่งผลในเรื่องของสัญญาณ ซึ่งทำให้ค่าความล่าช้าอย่าง ping หรือ latency (โดยเฉพาะสำหรับคนที่เล่นเกม) รวมถึงความสามารถในการจัดการข้อมูลเมื่อมีอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านเราเตอร์พร้อมกันเป็นจำนวนมาก

เราเตอร์ใส่ซิม

4G Router vs. Pocket Wi-Fi

เราเตอร์แบบใส่ซิม สามารถปล่อยสัญญาณได้เสถียรกว่า Pocket Wi-Fi และ personal hotspot จากสมาร์ทโฟน รวมถึงมีระยะส่งสัญญาณที่ไกลกว่าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีข้อดีตรงที่คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับแบตเตอรี่เพราะอาศัยไฟบ้าน

แต่หากคุณต้องการ Wi-Fi แบบพกพา Pocket Wi-Fi ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ด้วยข้อได้เปรียบในด้านความกะทัดรัดและการใช้งานด้วยแบตเตอรี่ นอกจากนี้ Pocket Wi-Fi ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถกระจายสัญญาณในพื้นที่ 1 ห้องได้ไม่ต่างจาก 4G Router

ถึงแม้จะเคยมีผู้ใช้งานบน Pantip ทดลองนำ 4G Router มาเสียบเข้ากับ power bank เพื่อพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ รวมถึงใช้กับเครื่องสำรองไฟขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถใช้งานเหมือนกับไฟบ้าน แต่ถ้าจุดประสงค์หลักของคุณคือการพกพา Pocket Wi-Fi อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและตอบโจทย์ได้เช่นกัน


เราเตอร์ใส่ซิม Dual Band

เหตุผลทรี่เราคิดว่าคุณควรลงทุนซื้อเราเตอร์ที่รองรับ Dual Band โดยคำว่า Band ในที่นี้หมายถึงย่านสัญญาณที่เราเตอร์ของคุณสามารถกระจายสัญญาณได้ เราเตอร์แบบ Dual-Band ต่างจากเราเตอร์แบบดั้งเดิมตรงที่มันสามารถกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ 2 ย่านความถี่ ได้แก่ 2.4 Ghz และ 5 Ghz พร้อมๆ กัน

Wi-Fi 2.4 Ghz ซึ่งมาพร้อมกับเราเตอร์แบบ Single-Band ส่วนใหญ่จะสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ราว 600 Mbps

Wi-Fi 5Ghz ซึ่งมาพร้อมกับเราเตอร์ Dual-Band สามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 1300 Mbps

คลื่น 2.4 Ghz ที่ยาวกว่า 5 Ghz นั้นทำให้สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่าคลื่น แต่ข้อเสียของย่านความถี่ 2.4Ghz นั้น คือมันมักจะแออัดไปด้วยสัญญาณจากอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ไร้สาย รีโมทต่าง และเราเตอร์แบบมาตรฐานที่มีวางขายทั่วไป ซึ่งความแออัดนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อและความเร็ว

ย่านความถี่ 5 Ghz นั้นถูกใช้โดยอุปกรณ์ต่างๆ น้อยกว่า ทำให้ไม่แออัดและมีความเสถียรกว่าในพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi จำนวนมาก ถึงแม้จะทะลุทะลวงผ่านกำแพงและสิ่งกีดขวางได้ด้อยกว่า

นอกจากนี้ ความเร็วในการเชื่อมต่อยังขึ้นอยู่กับมาตรฐาน Wi-Fi ของเราเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานด้วย เช่น เราเตอร์บางรุ่งอาจรองรับ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11b, 802.11g, 802.11n หรือ 802.11ac เป็นต้น

ปัจจุบัน เริ่มมีเราเตอร์ใส่ซิม 5G ออกมาจำหน่ายบ้างแล้ว แต่เรายังคิดว่า ทั้งราคาและความครอบคลุมของเครือข่ายในประเทศไทย ยังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อเทียบกับรุ่นที่เราแนะนำ ทั้งนี้ ควรระวังสับสนระหว่าง เราเตอร์ 4G ที่รองรับ Wi-Fi 5Ghz กับ เราเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G บนซิมการ์ด


รีวิว TP-Link MR200

เราเตอร์ใส่ซิม ยี่ห้อ TP-Link MR200

สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราเตอร์ใส่ซิมที่ดี คือ การจับสัญญาณจากซิมการ์ดได้รวดเร็ว และกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้เสถียร ซึ่งทั้งสองข้อนี้เป็นจุดเด่นของ TP-Link MR200 เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่เราทำได้ทดสอบ

นอกจากจะรองรับอุปกรณ์ได้พร้อมกันสูงสุด 64 เครื่องแล้ว เจ้า TP-Link MR200 ยังเป็นเราเตอร์แบบ Dual Band ที่รองรับการปล่อยสัญญาณ 5 Ghz ยังทำให้มีประโยชน์ในการใช้งานตามคอนโดที่ไม่ต้องการระยะสัญญาณที่ไกล และหลีกเลี่ยงช่องสัญญาณ 2.4 Ghz ที่แออัดได้

ในด้านการใช้งานจริง TP-Link MR200 ใช้เวลาน้อยกว่า 1 นาที นับตั้งแต่เสียบปลั๊ก ในการจับสัญญาณ 4G และเริ่มกระจายสัญญาณต่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานได้

ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่แนะนำเราเตอร์บางรุ่น เช่น D-link DWR921 ซึ่งต้องใช้เวลาเชื่อมต่อสัญญาณ 4G เป็นเวลาราว 30-45 วินาที ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง ซึ่งนอกจากจะกินเวลาแล้ว มันยังสร้างความลำบากในการใช้งาน เพราะต้องคอยเช็คบนตัวเราเตอร์ว่าเราเตอร์ตรวจหาซิมได้ตามปกติหรือไม่



นอกจากนี้ การจับสัญญาณได้เร็วยังเพิ่มความสะดวกสำหรับคนที่ต้องนำไปใช้นอกสถานที่บ่อยๆ ตามความเห็นของผู้ใช้งานหลายคนบน Pantip ที่ต้องใช้เราเตอร์สำหรับออกกองหรือรับส่งไฟล์ภาพและวิดีโอ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งในด้านความสะดวกในการใช้งานของเราเตอร์รุ่นนี้ คือถาดใส่ซิมที่รองรับ SIM ได้หลายขนาด ต่างจากหลายรุ่นที่ต้องนำซิมขนาดเต็มมาใช้งาน โดยเฉพาะในปัจจุบันสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ Nano-Sim แล้ว นอกจากนี้ ปัจจุบันเราเตอร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ของ TP-Link ได้ปรับปรุงให้รองรับนาโนซิมแล้วด้วยเช่นกัน (ในอนาคตอุปกรณ์ส่วนใหญ่อาจเลิกรองรับ Micro Sim กันแล้ว)

ดีไซน์สีดำเงา และรูปทรงที่เรียบและแบนของ MR200 ยังดูดีกว่า Router ส่วนใหญ่ และสามารถวางไว้บริเวณที่มองเห็นได้โดยไม่รู้สึกขัดตา

MR200 ยังถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับคนที่คาดว่าอาจไม่ได้ใช้งาน 4G LTE เพียงอย่างเดียวในอนาคต เพราะมันยังถือเป็นโมเด็มเราเตอร์ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเราเตอร์ Dual Band ส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีราคาที่แพงกว่า

ถาดใส่ SIM Card ของ เราเตอร์ใส่ซิม


การใช้งานกับ “ซิมเทพ”

เราเตอร์ใส่ซิมสามารถใช้งานกับซิมได้หลายขนาด โดยรุ่นที่เราแนะนำนั้นมาพร้อมกับถาดใส่ซิมที่รองรับซิมขนาดมาตรฐาน (Mini Sim) ซึ่งปัจจุบันซิมขนาดอื่นๆ (Micro และ Nano Sim) ก็สามารถวางประกอบกันและใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา

จากการทดสอบเราเตอร์ 2 รุ่นกับ ซิมเทพ ของทรูมูฟ เราเตอร์ใส่ซิมสามารถใช้งานทั่วไปได้ปกติ สามารถดู Netflix YouTube เช็คอีเมล และเล่นโซเชียลมีเดียได้โดยไม่รู้สึกช้าจนเป็นปัญหา แต่เราพบว่ามีอาการช้าบ้างเวลาสตรีมวิดีโอแบบ HD โดยทำความเร็วได้เฉลี่ย 3.8 – 4.1 Mbps ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ใช้งานด้วย

คนขายที่ร้านซิมเทพหลายคนบอกกับทีมงานของเราว่า วิธีที่ดีที่สุดก่อนนำซิมไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ คือให้ activate ซิมที่ช้อปให้เรียบร้อย จากนั้นให้นำไปใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนก่อน เพื่อให้ซิมได้รับการตั้งค่าอินเทอร์เน็ตตามปกติให้เรียบร้อยโดยอัตโนมัติ ก่อนนำไปใส่กับเราเตอร์

ทดสอบความเร็ว Tp-Link M200 สัญญาณ 5Ghz


เราเตอร์ใส่ซิม ปี 2022

TP-Link MR100

MR100 เป็นเราเตอร์ใส่ซิมรุ่นใหม่ราคาประหยัดของ TP-Link ซึ่งกระจายสัญญาณแบบเดียวกับ MR6400 แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว MR100 จะมี Port LAN เพียง 2 พอร์ต ทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้อย่างจำกัด เช่น คนที่ต้องการต่อเข้ากับทีวี กล้องวงจรปิด และพีซี พร้อมๆ กัน นอกจากนี้ เมื่อดูจาก spec บนเว็บไซต์จะพบว่า MR100 มีพีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์น้อยกว่า (เช่น การตั้งค่า parental/access control) ทำให้เราเลือกแนะนำ MR6400 มากกว่า แต่สำหรับคนที่ต้องการใช้งานง่ายๆ ใช้กับอุปกรณ์ผ่าน Wi-Fi เป็นหลักในพื้นที่ขนาดเล็กและไม่อยากลงทุนมาก MR100 เป็นอีกรุ่นที่น่าสนใจ

D-Link DWR921

หนึ่งในเราเตอร์แบบใส่ซิมแบบ Single Band รุ่นยอดนิยมที่มีราคาใกล้เคียงกับ MR6400 และสามารถทำความเร็วได้ไม่ต่างกัน แต่มีข้อเสียในด้านการจับสัญญาณ 4G จากซิม ที่ทำได้ช้ากว่ากว่ารุ่นที่เราแนะนำ (อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่นำไปใช้ในที่พักอาศัยและไม่ได้เปิด-ปิด Router บ่อยๆ) รวมถึงในเรื่องของดีไซน์ที่เรามองว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ในแง่ของดีไซน์ DWR-921 ยังมีความเทอะทะกว่ารุ่นที่เราแนะนำ นอกจากนี้ด้วยราคาที่นับว่าค่อนข้างสูงสำหรับเราเตอร์ชนิด Single-Band รวมถึงอายุประกันที่น้อยกว่า MR200 และ MR6400 ที่เราแนะนำ

D-Link DWR-953

เราเตอร์รุ่นที่หลายเว็บไซต์เลือกแนะนำนี้ มาพร้อมกับสเปคมาตรฐาน AC1200 ที่รองรับความเร็วสูงสุด 866 Mbps สำหรับความถี่ 5 GHz และ 300 Mbps สำหรับความถี่ 2.4 GHz แต่ยังคงมีข้อเสียแบบเดียวกับ Router ของค่าย D-Link รุ่นนี้ คือมันไม่มีถาดใส่ซิม และต้องใช้ซิมขนาดเต็มเท่านั้นทำให้อาจไม่สะดวกในการสลับซิมจากสมาร์ทโฟนมาใช้งาน และรู้สึกไม่แน่ใจว่าใส่ได้พอดีไหม

Huawei B310

เราเตอร์ใส่ซิมของ Huawei ราคาราว 2,400 บาท รองรับการใช้งานแบบ Single Band เท่านั้น และเมื่อเทียบกับ D-Link DWR-921 ที่ราคาใกล้กันแล้ว ยังมี Port LAN น้อยกว่า เรายังไม่ชอบการดีไซน์ที่ออกแบบมาให้วางแนวตั้งเท่านั้น รวมถึงยังไม่แน่ใจในเรื่องของการรับประกัน

เราเตอร์ของ Kasda และ Ajiko

อีกหนึ่งยี่ห้อที่มีคนพูดถึงบน Pantip ได้แก่ เร้าเตอร์ใส่ซิมของ Kasda โดยเฉพาะรุ่น KW9621S AC1200 รวมถึงของ Ajiko ซึ่งเรายังไม่มีโอกาสทดลองใช้จริงทั้ง 2 ยี่ห้อ แต่ด้วยราคาที่ต่างจากรุ่นที่เราแนะนำไม่มากนัก (เทียบกับ MR6400 หรือ MR100) เราคิดว่า ความน่าเชื่อถือ ความนิยมของแบรนด์ (ทำให้หาศูนย์บริการและข้อมูลในการใช้งานได้ง่ายกว่า) เราจึงยังคิดว่า TP-Link ตัวเลือกที่ดีกว่า

เราเตอร์ใส่ซิมของ AIS 4G Home Wi-Fi

เราเตอร์ใส่ซิมของเอไอเอส หรือที่เรียกว่า 4G Home Wi-Fi โมเดล HongKong Boost R051 รองรับความเร็วสูงสุดได้ที่ 150/50Mbps ซึ่งต่ำกว่า TP-Link ที่เราแนะนำ อีกทั้งยังมีย่านสัญญาณความถี่ที่ 2.4GHz เท่านั้น แม้ว่าอาจจะเพียงพอต่อการใช้งาน หากเทียบราคาแล้วเราคิดว่าลงทุนซื้อ MR200 ที่เราแนะนำน่าจะคุ้มค่ากว่า

เราเตอร์ใส่ซิม TRUE IoT Router WiFi

สำหรับเราเตอร์ใส่ซิมของค่าย Truemove H มีราคาเครื่องเปล่าที่สูงถึง 2,990 บาท แม้จะมีส่วนลดเมื่อซื้อพร้อมแพ็คเกจเหลือประมาณ 1,990 บาท แต่ก็มีสเปคที่ไม่ต่างจากของ AIS มากนัก โดยมีพอร์ต LAN มากกว่า แต่ก็ยังไม่รองรับ Dual-Band ทำให้เรามองว่า TP-Link ที่เราแนะนำนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า

Huawei 5G CPE Pro

ตามที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้น เราคิดว่า เร้าเตอร์ใส่ซิม 5G ยังมีราคาที่สูงอยู่มาก อีกทั้งความเร็วสูงสุดที่ได้รับยังขึ้นกับหลายปัจจัย เรายังไม่มีโอกาสได้รีวิวเราเตอร์ 5G มากพอที่จะแนะนำรุ่นที่ดีที่สุด แต่เรายังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะใช้งานเราเตอร์ใส่ซิม 4G ได้สะดวกและคุ้มค่ากว่า


ตัวเลือกที่เราแนะนำ

OUR PICK TP-Link Archer MR200
TP-Link Archer MR200

เราเตอร์ใส่ซิม แบบ Dual Band ที่เชื่อมต่อได้รวดเร็วและติดตั้งได้สะดวกที่สุด

RUNNER UP TP-Link Archer MR6400
TP-Link Archer MR6400

4G Router ที่ใช้งานได้สะดวก สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานสัญญาณแบบ Dual Band


เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง

ปุ่มเพิ่มเพื่อน