เราเตอร์ใส่ซิม ยี่ห้อไหนดี? จากการค้นคว้าข้อมูลและทดสอบ 4G Router หลายยี่ห้อ เราเชื่อว่า Archer MR200 ของ TP-Link เป็นรุ่นที่ดีที่สุดสำหรับคนส่วนใหญ่
เราเลือกแนะนำ TP-Link MR200 ซึ่งเป็นเราเตอร์แบบ Dual Band รองรับการเชื่อมต่อความเร็วสูงที่ใช้สะดวกในการใช้งานจริง ถึงแม้จะถือว่ามีราคาค่อนข้างสูงกว่ายี่ห้ออื่นเล็กน้อย
จุดเด่นของเราเตอร์ TP-Link รุ่นนี้ คือการเชื่อมต่อสัญญาณ 4G ได้อย่างรวดเร็วและเสถียรในการทดสอบของเรา นอกจากนี้ มันยังสามารถกระจายสัญญาณแบบ Dual-Band ที่ทำให้ได้เปรียบในการใช้งานในพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi อื่นรบกวน
ถึงแม้ผู้ใช้งานหลายคนอาจใช้กับ SIM อินเทอร์เน็ตแบบจำกัดความเร็วสูงสุด หรือใช้งานนอกสถานที่ชั่วคราว เราคิดว่ามันคุ้มค่าที่จะลงทุนกับเราเตอร์รุ่นที่สามารถนำไปใช้งานกับอินเทอร์เน็ต ADSL หรือใช้งานรูปแบบอื่น ๆ ได้อนาคต
เราเตอร์ใส่ซิม แบบ Dual Band ที่เชื่อมต่อได้รวดเร็วและติดตั้งได้สะดวกที่สุด
เช็คราคาบน Lazada เช็คราคาบน Shopeeถึงแม้เราคิดว่ามันจะไม่คุ้มค่ากับราคาเมื่อเทียบกับ TP-Link MR200 ที่เราแนะนำ แต่ MR6400 สามารถทำงานได้ดีไม่แพ้กันโดยเฉพาะกับการใช้งานกับซิมแบบจำกัดความเร็วในที่พักอาศัยทั่วไป
แต่หากคุณกำลังมองหาเราเตอร์แบบใส่ซิมไว้ใช้ที่บ้านเป็นหลัก และไม่อยากลงทุนมากเกินไปกับเราเตอร์หนึ่งตัว TP-Link Archer MR6400 ซึ่งเป็นรุ่น Single Band ก็อาจเพียงพอแล้วต่อการใช้งานสำหรับคุณ โดยมาพร้อมกับพอร์ต LAN 4 พอร์ต
เราเตอร์ใส่ซิม 5G
สำหรับคนที่กำลังมองหาเราเตอร์ใส่ซิม 5G ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลือกไม่มากนัก เราคิดว่า เราเตอร์ Huawei 5G CPE Pro 2 น่าจะเป็นรุ่นที่ตอบโจทย์ที่สุดเท่าที่เราได้มีโอกาสทดลองใช้ ทั้งในแง่ราคาและการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการใช้ซิม 4G และเราเตอร์ใส่ซิมตามปกติมากกว่า เพราะนอกจากพื้นที่ใช้งาน 5G จะยังจำกัดในประเทศไทย ราคาของเราเตอร์ใส่ซิม 5G ยังสูงมากอีกด้วย
ตามการทดลองใช้ของเรา ความเร็วสูงสุดที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากซิมอย่างมาก แม้ว่าในแง่ความเร็ว ตามทฤษฎีแล้ว เทคโนโลยี 5G จะสามารถรองรับความเร็วได้สูงสุดถึง 20 Gbps แต่การกระจายสัญญาณผ่าน WiFi 2.4 Ghz หรือ 5Ghz นั้นสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ต่ำกว่า (ระหว่าง 450 Mbps ถึง 1300 Mbps) ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากความเร็วสูงสุดของ 5G ได้
สารบัญ
- เราเตอร์ใส่ซิม ดีไหม
- เปรียบเทียบกับ Pocket Wi-Fi
- เราเตอร์ใส่ซิม Dual Band
- รีวิว TP-Link MR200
- การใช้งานกับ “ซิมเทพ”
- ตัวเลือกปี 2022
เราเตอร์ใส่ซิม คืออะไร ใช้ดีไหม
ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง เร้าเตอร์ใส่ซิมกับโมเด็มเราเตอร์ปกติ อยู่ตรงที่ความสามารถในการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต 3G/4G LTE จาก SIM card มากระจายต่อในรูปแบบ Wi-Fi ได้
ดังนั้น หากคุณต้องการนำมาใช้กับอินเทอร์เน็ตแบบไฟเบอร์หรือ ADSL คุณแทบไม่มีความจำเป็นต้องซื้อ Router 4G ซึ่งมีราคาแพงกว่ารุ่นสเปคใกล้กันแบบไม่รองรับ 4G
เหตุผลสำคัญที่หลายคนสนใจเราเตอร์แบบใส่ซิม คือ ความคล่องตัวในการใช้งาน เช่น การนำไปใช้ที่บ้านพักตากอากาศในวันหยุด การประชุมนอกสถานที่ และการใช้ในคอนโดหรือหอพักแทนที่การติดสัญญา 1 ปีกับบริษัทอินเทอร์เน็ต
เราเตอร์ใส่ซิมแทบทุกรุ่นนั้นสามารถรองรับความเร็วสูงสุดของ ซิมเทพ หรือ ซิมเน็ตไม่จำกัด ที่จำกัดความเร็วสูงสุดที่ 1-10 Mbps ได้แน่นอน แต่การเลือกเราเตอร์ใส่ซิมที่มีสเปคสูงขึ้นนั้น จะมีส่วนช่วยให้ใช้งานได้ดีกว่าอย่างสัมผัสได้
ถึงแม้ความเร็วสูงสุดที่ได้จากการเช็คความเร็วอินเทอร์เน็ตนั้นจะออกมาแทบไม่ต่างกัน แต่เราเตอร์ที่มีคุณภาพสูงกว่ายังส่งผลในเรื่องของสัญญาณ ซึ่งทำให้ค่าความล่าช้าอย่าง ping หรือ latency (โดยเฉพาะสำหรับคนที่เล่นเกม) รวมถึงความสามารถในการจัดการข้อมูลเมื่อมีอุปกรณ์เชื่อมต่อผ่านเราเตอร์พร้อมกันเป็นจำนวนมาก
4G Router vs. Pocket Wi-Fi
เราเตอร์แบบใส่ซิม สามารถปล่อยสัญญาณได้เสถียรกว่า Pocket Wi-Fi และ personal hotspot จากสมาร์ทโฟน รวมถึงมีระยะส่งสัญญาณที่ไกลกว่าอย่างแน่นอน นอกจากนี้ ยังมีข้อดีตรงที่คุณไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับแบตเตอรี่เพราะอาศัยไฟบ้าน
แต่หากคุณต้องการ Wi-Fi แบบพกพา Pocket Wi-Fi ยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า ด้วยข้อได้เปรียบในด้านความกะทัดรัดและการใช้งานด้วยแบตเตอรี่ นอกจากนี้ Pocket Wi-Fi ส่วนใหญ่ก็ยังสามารถกระจายสัญญาณในพื้นที่ 1 ห้องได้ไม่ต่างจาก 4G Router
ถึงแม้จะเคยมีผู้ใช้งานบน Pantip ทดลองนำ 4G Router มาเสียบเข้ากับ power bank เพื่อพกพาไปใช้ในที่ต่างๆ รวมถึงใช้กับเครื่องสำรองไฟขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถใช้งานเหมือนกับไฟบ้าน แต่ถ้าจุดประสงค์หลักของคุณคือการพกพา Pocket Wi-Fi อาจเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจและตอบโจทย์ได้เช่นกัน
เราเตอร์ใส่ซิม Dual Band
เหตุผลทรี่เราคิดว่าคุณควรลงทุนซื้อเราเตอร์ที่รองรับ Dual Band โดยคำว่า Band ในที่นี้หมายถึงย่านสัญญาณที่เราเตอร์ของคุณสามารถกระจายสัญญาณได้ เราเตอร์แบบ Dual-Band ต่างจากเราเตอร์แบบดั้งเดิมตรงที่มันสามารถกระจายสัญญาณ Wi-Fi ได้ 2 ย่านความถี่ ได้แก่ 2.4 Ghz และ 5 Ghz พร้อมๆ กัน
Wi-Fi 2.4 Ghz ซึ่งมาพร้อมกับเราเตอร์แบบ Single-Band ส่วนใหญ่จะสามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ราว 600 Mbps
Wi-Fi 5Ghz ซึ่งมาพร้อมกับเราเตอร์ Dual-Band สามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ถึง 1300 Mbps
คลื่น 2.4 Ghz ที่ยาวกว่า 5 Ghz นั้นทำให้สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่าคลื่น แต่ข้อเสียของย่านความถี่ 2.4Ghz นั้น คือมันมักจะแออัดไปด้วยสัญญาณจากอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เช่น โทรศัพท์ไร้สาย รีโมทต่าง และเราเตอร์แบบมาตรฐานที่มีวางขายทั่วไป ซึ่งความแออัดนั้นจะส่งผลกระทบต่อการเชื่อมต่อและความเร็ว
ย่านความถี่ 5 Ghz นั้นถูกใช้โดยอุปกรณ์ต่างๆ น้อยกว่า ทำให้ไม่แออัดและมีความเสถียรกว่าในพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi จำนวนมาก ถึงแม้จะทะลุทะลวงผ่านกำแพงและสิ่งกีดขวางได้ด้อยกว่า
นอกจากนี้ ความเร็วในการเชื่อมต่อยังขึ้นอยู่กับมาตรฐาน Wi-Fi ของเราเตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้งานด้วย เช่น เราเตอร์บางรุ่งอาจรองรับ Wi-Fi มาตรฐาน 802.11b, 802.11g, 802.11n หรือ 802.11ac เป็นต้น
ปัจจุบัน เริ่มมีเราเตอร์ใส่ซิม 5G ออกมาจำหน่ายบ้างแล้ว แต่เรายังคิดว่า ทั้งราคาและความครอบคลุมของเครือข่ายในประเทศไทย ยังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อเทียบกับรุ่นที่เราแนะนำ ทั้งนี้ ควรระวังสับสนระหว่าง เราเตอร์ 4G ที่รองรับ Wi-Fi 5Ghz กับ เราเตอร์ที่รองรับเทคโนโลยี 5G บนซิมการ์ด
รีวิว TP-Link MR200
สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเราเตอร์ใส่ซิมที่ดี คือ การจับสัญญาณจากซิมการ์ดได้รวดเร็ว และกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้เสถียร ซึ่งทั้งสองข้อนี้เป็นจุดเด่นของ TP-Link MR200 เมื่อเทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่เราทำได้ทดสอบ
นอกจากจะรองรับอุปกรณ์ได้พร้อมกันสูงสุด 64 เครื่องแล้ว เจ้า TP-Link MR200 ยังเป็นเราเตอร์แบบ Dual Band ที่รองรับการปล่อยสัญญาณ 5 Ghz ยังทำให้มีประโยชน์ในการใช้งานตามคอนโดที่ไม่ต้องการระยะสัญญาณที่ไกล และหลีกเลี่ยงช่องสัญญาณ 2.4 Ghz ที่แออัดได้
ในด้านการใช้งานจริง TP-Link MR200 ใช้เวลาน้อยกว่า 1 นาที นับตั้งแต่เสียบปลั๊ก ในการจับสัญญาณ 4G และเริ่มกระจายสัญญาณต่อให้อุปกรณ์ต่างๆ ใช้งานได้
ถึงแม้จะฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราไม่แนะนำเราเตอร์บางรุ่น เช่น D-link DWR921 ซึ่งต้องใช้เวลาเชื่อมต่อสัญญาณ 4G เป็นเวลาราว 30-45 วินาที ทุกครั้งที่เปิดเครื่อง ซึ่งนอกจากจะกินเวลาแล้ว มันยังสร้างความลำบากในการใช้งาน เพราะต้องคอยเช็คบนตัวเราเตอร์ว่าเราเตอร์ตรวจหาซิมได้ตามปกติหรือไม่
นอกจากนี้ การจับสัญญาณได้เร็วยังเพิ่มความสะดวกสำหรับคนที่ต้องนำไปใช้นอกสถานที่บ่อยๆ ตามความเห็นของผู้ใช้งานหลายคนบน Pantip ที่ต้องใช้เราเตอร์สำหรับออกกองหรือรับส่งไฟล์ภาพและวิดีโอ
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งในด้านความสะดวกในการใช้งานของเราเตอร์รุ่นนี้ คือถาดใส่ซิมที่รองรับ SIM ได้หลายขนาด ต่างจากหลายรุ่นที่ต้องนำซิมขนาดเต็มมาใช้งาน โดยเฉพาะในปัจจุบันสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่เปลี่ยนมาใช้ Nano-Sim แล้ว นอกจากนี้ ปัจจุบันเราเตอร์เวอร์ชั่นใหม่ๆ ของ TP-Link ได้ปรับปรุงให้รองรับนาโนซิมแล้วด้วยเช่นกัน (ในอนาคตอุปกรณ์ส่วนใหญ่อาจเลิกรองรับ Micro Sim กันแล้ว)
ดีไซน์สีดำเงา และรูปทรงที่เรียบและแบนของ MR200 ยังดูดีกว่า Router ส่วนใหญ่ และสามารถวางไว้บริเวณที่มองเห็นได้โดยไม่รู้สึกขัดตา
MR200 ยังถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสำหรับคนที่คาดว่าอาจไม่ได้ใช้งาน 4G LTE เพียงอย่างเดียวในอนาคต เพราะมันยังถือเป็นโมเด็มเราเตอร์ที่มีประสิทธิภาพทัดเทียมกับเราเตอร์ Dual Band ส่วนใหญ่ ถึงแม้จะมีราคาที่แพงกว่า
การใช้งานกับ “ซิมเทพ”
เราเตอร์ใส่ซิมสามารถใช้งานกับซิมได้หลายขนาด โดยรุ่นที่เราแนะนำนั้นมาพร้อมกับถาดใส่ซิมที่รองรับซิมขนาดมาตรฐาน (Mini Sim) ซึ่งปัจจุบันซิมขนาดอื่นๆ (Micro และ Nano Sim) ก็สามารถวางประกอบกันและใช้งานได้โดยไม่มีปัญหา
จากการทดสอบเราเตอร์ 2 รุ่นกับ ซิมเทพ ของทรูมูฟ เราเตอร์ใส่ซิมสามารถใช้งานทั่วไปได้ปกติ สามารถดู Netflix YouTube เช็คอีเมล และเล่นโซเชียลมีเดียได้โดยไม่รู้สึกช้าจนเป็นปัญหา แต่เราพบว่ามีอาการช้าบ้างเวลาสตรีมวิดีโอแบบ HD โดยทำความเร็วได้เฉลี่ย 3.8 – 4.1 Mbps ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ใช้งานด้วย
คนขายที่ร้านซิมเทพหลายคนบอกกับทีมงานของเราว่า วิธีที่ดีที่สุดก่อนนำซิมไปใช้กับอุปกรณ์อื่นๆ คือให้ activate ซิมที่ช้อปให้เรียบร้อย จากนั้นให้นำไปใช้งานอินเทอร์เน็ตบนสมาร์ทโฟนก่อน เพื่อให้ซิมได้รับการตั้งค่าอินเทอร์เน็ตตามปกติให้เรียบร้อยโดยอัตโนมัติ ก่อนนำไปใส่กับเราเตอร์
เราเตอร์ใส่ซิม ปี 2022
MR100 เป็นเราเตอร์ใส่ซิมรุ่นใหม่ราคาประหยัดของ TP-Link ซึ่งกระจายสัญญาณแบบเดียวกับ MR6400 แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว MR100 จะมี Port LAN เพียง 2 พอร์ต ทำให้เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้อย่างจำกัด เช่น คนที่ต้องการต่อเข้ากับทีวี กล้องวงจรปิด และพีซี พร้อมๆ กัน นอกจากนี้ เมื่อดูจาก spec บนเว็บไซต์จะพบว่า MR100 มีพีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์น้อยกว่า (เช่น การตั้งค่า parental/access control) ทำให้เราเลือกแนะนำ MR6400 มากกว่า แต่สำหรับคนที่ต้องการใช้งานง่ายๆ ใช้กับอุปกรณ์ผ่าน Wi-Fi เป็นหลักในพื้นที่ขนาดเล็กและไม่อยากลงทุนมาก MR100 เป็นอีกรุ่นที่น่าสนใจ
หนึ่งในเราเตอร์แบบใส่ซิมแบบ Single Band รุ่นยอดนิยมที่มีราคาใกล้เคียงกับ MR6400 และสามารถทำความเร็วได้ไม่ต่างกัน แต่มีข้อเสียในด้านการจับสัญญาณ 4G จากซิม ที่ทำได้ช้ากว่ากว่ารุ่นที่เราแนะนำ (อาจไม่เป็นปัญหาสำหรับคนที่นำไปใช้ในที่พักอาศัยและไม่ได้เปิด-ปิด Router บ่อยๆ) รวมถึงในเรื่องของดีไซน์ที่เรามองว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ ในแง่ของดีไซน์ DWR-921 ยังมีความเทอะทะกว่ารุ่นที่เราแนะนำ นอกจากนี้ด้วยราคาที่นับว่าค่อนข้างสูงสำหรับเราเตอร์ชนิด Single-Band รวมถึงอายุประกันที่น้อยกว่า MR200 และ MR6400 ที่เราแนะนำ
เราเตอร์รุ่นที่หลายเว็บไซต์เลือกแนะนำนี้ มาพร้อมกับสเปคมาตรฐาน AC1200 ที่รองรับความเร็วสูงสุด 866 Mbps สำหรับความถี่ 5 GHz และ 300 Mbps สำหรับความถี่ 2.4 GHz แต่ยังคงมีข้อเสียแบบเดียวกับ Router ของค่าย D-Link รุ่นนี้ คือมันไม่มีถาดใส่ซิม และต้องใช้ซิมขนาดเต็มเท่านั้นทำให้อาจไม่สะดวกในการสลับซิมจากสมาร์ทโฟนมาใช้งาน และรู้สึกไม่แน่ใจว่าใส่ได้พอดีไหม
เราเตอร์ใส่ซิมของ Huawei ราคาราว 2,400 บาท รองรับการใช้งานแบบ Single Band เท่านั้น และเมื่อเทียบกับ D-Link DWR-921 ที่ราคาใกล้กันแล้ว ยังมี Port LAN น้อยกว่า เรายังไม่ชอบการดีไซน์ที่ออกแบบมาให้วางแนวตั้งเท่านั้น รวมถึงยังไม่แน่ใจในเรื่องของการรับประกัน
เราเตอร์ของ Kasda และ Ajiko
อีกหนึ่งยี่ห้อที่มีคนพูดถึงบน Pantip ได้แก่ เร้าเตอร์ใส่ซิมของ Kasda โดยเฉพาะรุ่น KW9621S AC1200 รวมถึงของ Ajiko ซึ่งเรายังไม่มีโอกาสทดลองใช้จริงทั้ง 2 ยี่ห้อ แต่ด้วยราคาที่ต่างจากรุ่นที่เราแนะนำไม่มากนัก (เทียบกับ MR6400 หรือ MR100) เราคิดว่า ความน่าเชื่อถือ ความนิยมของแบรนด์ (ทำให้หาศูนย์บริการและข้อมูลในการใช้งานได้ง่ายกว่า) เราจึงยังคิดว่า TP-Link ตัวเลือกที่ดีกว่า
เราเตอร์ใส่ซิมของ AIS 4G Home Wi-Fi
เราเตอร์ใส่ซิมของเอไอเอส หรือที่เรียกว่า 4G Home Wi-Fi โมเดล HongKong Boost R051 รองรับความเร็วสูงสุดได้ที่ 150/50Mbps ซึ่งต่ำกว่า TP-Link ที่เราแนะนำ อีกทั้งยังมีย่านสัญญาณความถี่ที่ 2.4GHz เท่านั้น แม้ว่าอาจจะเพียงพอต่อการใช้งาน หากเทียบราคาแล้วเราคิดว่าลงทุนซื้อ MR200 ที่เราแนะนำน่าจะคุ้มค่ากว่า
เราเตอร์ใส่ซิม TRUE IoT Router WiFi
สำหรับเราเตอร์ใส่ซิมของค่าย Truemove H มีราคาเครื่องเปล่าที่สูงถึง 2,990 บาท แม้จะมีส่วนลดเมื่อซื้อพร้อมแพ็คเกจเหลือประมาณ 1,990 บาท แต่ก็มีสเปคที่ไม่ต่างจากของ AIS มากนัก โดยมีพอร์ต LAN มากกว่า แต่ก็ยังไม่รองรับ Dual-Band ทำให้เรามองว่า TP-Link ที่เราแนะนำนั้นเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
ตามที่เราได้กล่าวไว้ในตอนต้น เราคิดว่า เร้าเตอร์ใส่ซิม 5G ยังมีราคาที่สูงอยู่มาก อีกทั้งความเร็วสูงสุดที่ได้รับยังขึ้นกับหลายปัจจัย เรายังไม่มีโอกาสได้รีวิวเราเตอร์ 5G มากพอที่จะแนะนำรุ่นที่ดีที่สุด แต่เรายังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่น่าจะใช้งานเราเตอร์ใส่ซิม 4G ได้สะดวกและคุ้มค่ากว่า
ตัวเลือกที่เราแนะนำ
เราเตอร์ใส่ซิม แบบ Dual Band ที่เชื่อมต่อได้รวดเร็วและติดตั้งได้สะดวกที่สุด
4G Router ที่ใช้งานได้สะดวก สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องใช้งานสัญญาณแบบ Dual Band
เพิ่มเราเป็นเพื่อน คลิกที่นี่
แนะนำดีลที่คุ้มที่สุด แจ้งเตือนเดือนละครั้ง